หมาตักน้ำ
9 ต.ค. 2561
4,089
0
หมาตักน้ำ
หมาตักน้ำ

“ติหมา” เป็นภาชนะตักน้ำอย่างหนึ่งของชาวภาคใต้ ทำด้วยกาบหรือใบของพืชตระกูลปาล์มที่หาได้ในท้องถิ่น เป็นภาชนะที่มีรูปร่างโค้งครึ่งวงกลมหรือเป็นสี่เหลี่ยมคางหมู ทำจากใบไม้ใช้ตักน้ำ คนใต้เรียกเจ้าสิ่งนี้ว่า "หมาตักน้ำ"คำว่า "หมา" นี้ บางทีก็เรียก "ติหมา" หรือ "ตีหมา" ผู้รู้กล่าวว่าไม่ใช่คำไทยแท้ แต่เป็นคำที่มาจากภาษามลายู คือ คำว่า Timba ซึ่งหมายถึงภาชนะตักน้ำ ที่ทำจากใบจาก หรือ กาบ หมา ติหมา ตีหมา เป็นภาชนะตักน้ำอย่างหนึ่งของชาวภาคใต้ ทำด้วยกาบหรือใบของพืชตระกูลปาล์มที่หาได้ในท้องถิ่น การเรียกชื่อบางครั้งจึงมีชื่อของพืชที่นำมาเป็นวัสดุทำต่อท้ายด้วย เช่น ถ้าทำจากใบจากก็เรียกว่า "หมาจาก" ถ้าทำจากต้อหมาก (กาบหมาก) ก็เรียกว่า "หมาต้อ" ถ้าทำจากกาบเหลาชะโอนก็เรียกว่า "หมาต้อหลาวโอน" (หรือ "หมาต้อ" เช่นเดียวกัน) แต่บางคนก็ใช้คำว่า "หมา" "ติหมา" หรือ "หมาตักน้ำ" รวม ๆ กันไปโดยไม่คำนึงถึงวัสดุที่ใช้ทำในท้องถิ่นบางแห่ง

ชื่อ "ติหมา" ภาษามลายูถิ่นเรียก "ติมอ" ภาษาไทยถิ่นใต้เรียก ติหมา หมาน้ำ เป็นภาชนะสำหรับตักน้ำทำหน้าที่เหมือนถังน้ำและขันน้ำ เช่น ตักน้ำจากบ่อโดยใช้ไม้ทำเป็นตะขอเกี่ยว หรือใช้เชือกผูกโยง ใช้ตักน้ำอาบ วิดน้ำในเรือ เป็นต้น วัสดุ กาบของพืชตระกูลปาล์ม ได้แก่ กาบหลาวชะโอน กาบหมาก ใบจาก ส่วนใหญ่ชาวบ้านทางใต้นิยมทำ "หมาจาก" มากกว่าชนิดอื่น ๆ

การทำเริ่มด้วยการตัดเอายอดจากที่เป็นยอดอ่อน ๆ ซึ่งมีใบรวมกันหนาแน่นและยังไม่แตกออกมาจากยอดเป็นใบ ๆ (ถ้ายอดเริ่มแตกใบก็แสดงว่าใบเริ่มแก่แล้วใช้ไม่ได้) นำเอายอดนั้นมาตัดเอาแต่ละใบที่เห็นว่ามีขนาดพอจะใช้ทำหมาได้ตากแดดให้พอ หมาด ๆ เพื่อนำไปสอดได้สะดวก เมื่อสอดต้องคลี่ใบออกข้างหนึ่งแล้วสอดให้แต่ละใบสลับโคน – ปลายไปเรื่อย ๆ เพื่อให้ปลายทั้งสอง ข้างมีขนาดเท่า ๆ กัน เมื่อสอดไปจนได้ขนาดตามต้องการก็รวบปลายทั้ง 2 ข้างเข้าหากันเพื่อผูกติดกันเป็นที่ถือเวลาจะใช้ตักน้ำ หมาที่ทำเสร็จแล้วอาจมีขนาดใหญ่ – เล็กต่างกัน ขึ้นอยู่กับขนาดความยาวและใหญ่ของจากที่นำมาสอดและจำนวนใบที่ใช้สอย และถ้าต้องการให้หมานั้นสวยงามและทนทาน ใบจากไม่แยกออกจากกันง่าย ๆ ก็ใช้หวายหรือคล้าแทงเย็บรอยต่อระหว่างใบจาก แต่ละใบตามแนวขวางของใบจากที่ สอดกันนั้น พยายามเย็บให้เป็นแนวตรงส่วนกลางของหมา เพราะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยพยุงในการรับน้ำหนักของน้ำ การเย็บนี้อาจเย็บหลายแถวก็ได้ แต่ถ้าเป็นหมาขนาดเล็กไม่จำเป็นต้องเย็บ

หมาตักน้ำแบ่งได้  2 ชนิด คือ 1. ชนิดตามลักษณะของการผูกปลายของตัวหมาให้เป็นที่ถือคือ “หมาโผ้” (โผ้ – ตัวผู้) หมายถึง หมาที่เอาปลายทั้ง 2 มาผูกไขว้กัน 2.”หมาเหมีย” (เหมีย – ตัวเมีย) หมายถึงหมาที่เอาปลายทั้ง 2 ข้างมาสอดผูกแนบกัน นอกจากทำด้วยวัสดุที่หาง่ายในท้องถิ่นภาคใต้ และราคาไม่แพงแล้ว ยังเป็นสิ่งที่มีคุณสมบัติเหมาะสมต่อการใช้อีกหลายประการ เช่น มีน้ำหนักเบา มีที่ยึดถือหรือสำหรับผูก และสามารถตะแคงหรือคว่ำตัวได้เองเพียงแต่วางบนผิวน้ำ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมของการคิดที่สัมพันธ์กับการใช้ของชาวบ้าน

ปัจจุบันชาวบ้านได้คิดไอเดียเก๋ไก๋ นำ “ติหมา” ผลิตภัณฑ์จากวัสดุธรรมชาติมาใส่อาหารและเครื่องดื่มต่าง ๆ เพื่อความสวยงามและแปลกใหม่ แถมยังช่วยอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกือบสูญสลายไปกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมทั้งที่เป็นภูมิปัญญาและเอกลักษณ์ที่ดีงามของท้องถิ่นภาคใต้

ตกลง