ขอเชิญชวนประชาชนเข้าร่วมสักการะพระบรมสารีริกธาตุ พระเขี้ยวแก้ว จากจีน ระหว่างวันที่ 5 ธันวาคม 2567 ถึง 14 กุมภาพันธ์ 2568 ณ ท้องสนามหลวง
16 ม.ค. 2568
1,135
0
ขอเชิญชวนประชาชนเข้าร่วมสักการะพระบรมสารีริกธาตุ
ขอเชิญชวนประชาชนเข้าร่วมสักการะพระบรมสารีริกธาตุ พระเขี้ยวแก้ว จากจีน ระหว่างวันที่ 5 ธันวาคม 2567 ถึง 14 กุมภาพันธ์ 2568 ณ ท้องสนามหลวง

        รัฐบาลไทยและรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ร่วมกันจัดพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) จากวัดหลิงกวง กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีนมาประดิษฐานในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว ระหว่างวันที่ 4 ธันวาคม 2567 ถึงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 (73 วัน) โดยอัญเชิญมาวันที่ 4 ธันวาคม 2567 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และเพื่อให้ประชาชนได้กราบสักการะ เพื่อความเป็นสิริมงคล รวมทั้งเพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสการครบรอบ 50 ปี แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย - จีน ในปี 2568 โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานฝ่ายฆราวาส และมีสมเด็จพระราชาคณะ ซึ่งกรรมการมหาเถรสมาคมมอบหมายเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ โดยในวันดังกล่าว

โดยรัฐบาลได้จัดให้มีกิจกรรมต่างๆ ดังนี้
- ริ้วขบวนอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ในวันที่ 4 ธันวาคม 2567 เวลา 17.00 น. จากลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ ไปยังท้องสนามหลวง จำนวน 24 ขบวน

- เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าสักการะ ระหว่างวันที่ 5 ธันวาคม 2567 ถึง 14 กุมภาพันธ์ 2568 กำหนดเวลาตั้งแต่ 07.00-20.00 น. โดยเจ้าหน้าที่จะจัดเตรียมดอกไม้สักการะสำหรับให้ประชาชน โดยประชาชนไม่ต้องนำมาเอง

- กิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี วันที่ 31 ธันวาคม 2567 ณ ท้องสนามหลวง

- กิจกรรมทำบุญตักบาตรวันขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช 2568 วันที่ 1 มกราคม 2568 ณ ท้องสนามหลวง

- กิจกรรมเนื่องในวันตรุษจีน วันที่ 29 มกราคม 2568 ณ ท้องสนามหลวง

- กิจกรรมเนื่องในวันมาฆบูชา วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2568 ณ ท้องสนามหลวง

- พิธีอัญเชิญกลับสาธารณรัฐประชาชนจีน ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2568

นอกจากนี้ได้จัดให้มีนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 จำนวน 5 โซน ประกอบด้วย
โซนที่ 1 “ดับขันธปรินิพพาน มกุฎพันธนเจดียสถาน” นำเสนอเรื่องราวพุทธประวัติในการประสูติ ตรัสรู้ และเสด็จปรินิพพาน โดยเน้นในช่วงพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน

โซนที่ 2 “พุทธะบารมีพระสรีระธาตุ” นำเสนอเรื่องราวประวัติของพระสรีระธาตุหรือพระบรมสารีริกธาตุที่ได้อัญเชิญไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ของโลก

โซนที่ 3 “พระเขี้ยวแก้ว” นำเสนอเรื่องราวประวัติ ความสำคัญ และความเป็นมาของพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว)

โซนที่ 4 “ใต้ร่มเศวตฉัตร ทศมรัช พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” เป็นนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยที่ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภกและมีพระราชศรัทธาในพระบวรพุทธศาสนา สืบสานราชประเพณีสืบเนื่องมาจนเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ

โซนที่ 5 “ความสัมพันธ์ ไทย-จีน” นำเสนอเรื่องราวและเหตุการณ์สำคัญที่สร้างเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและประเทศจีนในด้านต่าง ๆ สะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น ส่งเสริมคำว่า “จีนไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน”

รู้จัก พระบรมสารีริกธาตุ
พระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ที่วัดหลิงกวง ประดิษฐานอยู่ภายในพระสถูปทองคำประดับอัญมณี องค์พระเขี้ยวแก้วมีขนาดยาวประมาณ 1 นิ้ว เชื่อกันว่าบุคคลต่าง ๆ มองเห็นองค์พระเขี้ยวแก้วมีสีต่างกันไป บ้างเห็นเป็นสีขาวล้วน บ้างเห็นเป็นสีทอง บ้างเห็นเป็นสีขาวหม่น ซึ่งเป็นไปตามกรรมที่แตกต่างกันของแต่ละบุคคล

แม้องค์พระบรมสารีริกธาตุจะไม่ใช่สภาวธรรมที่เป็นแก่นของพระพุทธศาสนา แต่ก็เป็นเครื่องชี้ทางและสะพานให้พุทธศาสนิกชนเดินหน้าไปสู่เป้าหมายปลายทางของพระพุทธศาสนาได้ เป็นสัญลักษณ์แห่งพระปัญญาตรัสรู้แห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

สำหรับวัดหลิงกวง ตั้งอยู่บนเชิงเขาทางทิศตะวันออกของเทือกเขาด้านตะวันตกของกรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน สัญลักษณ์แห่งปัญญาและแรงบันดาลใจบนเส้นทางธรรม มีชื่อเสียงในฐานะสถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระเขี้ยวแก้วของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นอกจากนี้ ยังเป็นหนึ่งในสถานที่แสวงบุญสำคัญของพุทธศาสนิกชนทั้งในจีนและต่างประเทศ โดยในปี ค.ศ. 1983 วัดหลิงกวงได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นวัดพุทธสำคัญในพื้นที่วัฒนธรรมจีนฮั่นโดยคณะรัฐมนตรีจีน ปัจจุบันอยู่ภายใต้การบริหารของคณะสงฆ์ ซึ่งพุทธสมาคมจีนมอบหมายแต่งตั้ง

การเดินทาง
รถโดยสารประจำทาง
องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จัดเดินรถโดยสารอำนวยความสะดวกประชาชนที่เดินทางมาสักการะพระบรมสารีริกธาตุ ระหว่างวันที่ 5 ธันวาคม 2567 ถึง 14 กุมภาพันธ์ 2568 จำนวน 2 เส้นทาง (จอดรับ-ส่งทุกป้าย) ดังนี้

1. เส้นทางอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ-สนามหลวง (จอดส่ง ใต้สะพานพระปิ่นเกล้า ฝั่งพระนคร)

เริ่มต้นจาก อนุสาวรีย์ฯ-ถ.พญาไท-แยกพญาไท-ถ.ศรีอยุธยา-วัดเบญจมบพิตรฯ-แยกกองทัพภาคที่ 1-ถ.ราชดำเนินนอก-ถ.ราชดำเนินกลาง-สุดเส้นทางที่สนามหลวง (บริเวณใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า)

2. เส้นทางวงเวียนใหญ่-สนามหลวง (จอดส่ง ตรงข้ามศาลฎีกา)

เริ่มตันจาก วงเวียนใหญ่-ถ.ประชาธิปก-ข้ามสะพานพุทธ-ถ.มหาราช-ถ.สนามไชย-ถ.ราชดำเนินใน-สุดเส้นทางที่สนามหลวง (ตรงข้ามศาลฏิกา)

เวลาเดินรถ
ท่าต้นทางเที่ยวแรก เวลา 07.00 น. เที่ยวสุดท้าย เวลา 19.30 น.

ท่าปลายทาง เที่ยวสุดท้าย เวลา 20.30 น. หรือจนกว่าผู้มาร่วมงานหมดพื้นที่

มีรถบริการทุก ๆ 20 นาที

เรือรับ-ส่ง ฟรี
กรมเจ้าท่า อำนวยความสะดวกประชาชน โดยจัดเรือข้ามฟาก จากฝั่งธนบุรี มาฝั่งพระนคร ดังนี้

ท่าเรือวัดระฆังฯ-ท่าเรือวัดอรุณฯ-ท่าเรือท่าช้าง ระหว่างวันที่ 5-11 ธันวาคม 2567

ตั้งแต่เวลา 07.00 น. เป็นต้นไป หรือจนกว่าจะแล้วเสร็จ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

ข่าว ภาพข่าว : VisitBangkok ส่วนการท่องเที่ยว สำนักงานวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว

ตกลง