สารโพแทสเซียมคลอเรต" เก็บอย่างไรให้ปลอดภัย
15 ก.พ. 2564
4,636
0
สารโพแทสเซียมคลอเรต เก็บอย่างไรให้ปลอดภัย
สารโพแทสเซียมคลอเรต" เก็บอย่างไรให้ปลอดภัย
 
เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ข่าวที่ถือว่าสร้างความตื่นตระหนกให้กับชาวสวนลำไย และเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันในวงการเกษตรอย่างกว้างขวางคือเหตุการณ์สารโพแทสเซียมคลอเรตระเบิดที่จังหวัดเชียงใหม่ เหตุการณ์ครั้งนั้นสร้างความเสียหายให้กับทั้งชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนบ้านเรือนได้รับความเสียหายหลายร้องหลังคาเรือน รวมทั้งประชาชนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก เวลาผ่านไป 20 ปี เหตุการณ์ดังกล่าวได้เกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อ 20 มีนาคม 62 ที่บ้านหลังหนึ่งในหมู่บ้านโรงวัว หมู่ 5 ตำบลแม่สอย อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ แรงระเบิดทำให้บ้านเสียหายทั้งหลัง และมีผู้บาดเจ็บ
สารโพแทสเซียมคลอเรตเป็นสารที่เกษตรกรนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในการผลิตลำไยทั้งในและนอกฤดู เนื่องจากมีคุณสมบัติสามารถชักนำให้ลำไยออกดอกและติดผลได้โดยไม่ต้องพึ่งอากาศหนาวเย็น ทำให้การผลิตลำไยนอกฤดูประสบความสำเร็จ มีการส่งออกลำไยนอกฤดูปีละประมาณ 1.5–2 แสนตัน หรือประมาณ 20–30 เปอร์เซ็นต์ ของผลผลิตลำไยทั้งหมด หรือแม้แต่การผลิตลำไยในฤดูเกษตรกรก็นิยมใช้สารโพแทสเซียมคลอเรต
สารโพแทสเซียมคลอเรตเป็นสารไม่ไวไฟแต่ช่วยให้ไฟติด เป็นสารเติมออกซิเจน (Oxidizing agent) สามารถทำปฏิกิริยารุนแรงกับสารรับรองออกซิเจน (Reducing agent) และสารอินทรีย์ทุกชนิด สารโพแทสเซียมคลอเรตสามารถเกิดระเบิดได้เองเมื่ออุณหภูมิสูงกว่าจุดเดือด รวมทั้งเป็นสารที่มีพิษต่อสิ่งมีชีวิต
ประโยชน์ของโพแทสเซียมคลอเรต
สารนี้เป็นสารที่มีลักษณะเป็นผลึกใสหรือผงสีขาว ไม่มีกลิ่น เป็นตัวออกซิไดซ์ที่รุนแรง สำหรับการใช้ประโยชน์จากสารนี้มีหลายประเภท ได้แก่ ใช้กระตุ้นการออกดอกของลำไย เป็นวัตถุดิบในการทำหัวไม้ขีดไฟ พลุดินปืน วัตถุระเบิด และใช้ในการพิมพ์ และย้อมผ้า
สารโพแทสเซียมคลอเรต อยู่ภายใต้การควบคุมของกองควบคุมยุทธภัณฑ์ กรมการอุตสาหกรรมทหาร กระทรวงกลาโหม ตามพระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530 ซึ่งการมีไว้ในครอบครองผู้ผลิตหรือนำเข้าต้องได้รับอนุญาตจากกระทรวงกลาโหม สำหรับสารโพแทสเซียมคลอเรตที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมวิชาการเกษตร ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ.2550 นั้น ต้องเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่มีเนื้อสารโพแทสเซียมคลอเรตไม่เกิน 15 เปอร์เซ็นต์และต้องผสมสารหน่วงปฏิกิริยาโดยต้องระบุชนิดและปริมาณของสารหน่วงปฏิกิริยา
ซึ่งเป็นไปตามการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายซึ่งกรมวิชาการเกษตรเป็นผู้รับผิดชอบและควบคุมให้เป็นไปตามเงื่อนไขพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 โดยที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันยังไม่มีผู้ประกอบการรายใดมาขอขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายในการผลิตสารโพแทสเซียมคลอเรตที่มีสารออกฤทธิ์ไม่เกิน 15 เปอร์เซ็นต์
สำหรับการนำสารโพแทสเซียมคลอเรตที่มีสารออกฤทธิ์เกิน 90 เปอร์เซ็นต์ไปใช้ในการเกษตรโดยไม่ให้เกิดการระเบิดหรือเกิดอันตรายนั้น เกษตรกรต้องใช้สารอย่างระมัด ระวังและใช้ให้ถูกวิธีตามคำแนะนำ
1. ซื้อสารโพแทสเซียมคลอเรตมาให้พอดีกับที่ต้องการใช้เท่านั้น
2 ต้องเก็บสารไว้ในภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิด ห่างจากอินทรียวัตถุ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยยูเรีย หรือถ่าน
3. สถานที่เก็บต้องเย็นและแห้ง มีอากาศถ่ายเทดี และมีพื้นที่ว่างเหลือโดยรอบ
4. ไม่ควรนำโพแทสเซียมคลอเรตไปผสมกับสารอื่น เช่น กำมะถันผง ผงถ่าน ขี้เลื่อย ปุ๋ยยูเรีย และสารฆ่าแมลง
5. ห้ามตำสารหรือกระแทก หรือทำให้เกิดประกายไฟ และระหว่างเตรียมการใช้สารห้ามสูบบุหรี่ในสถานที่นั้นโดยเด็ดขาด
6. รอบสถานที่เก็บบนพื้นดินต้องปราศวัชพืช วัสดุที่ติดไฟได้ในระยะ 50 ฟุต
"การเก็บรักษาร้านค้าที่มีการจำหน่ายสารโพแทสเซียมคลอเรต"
1.ต้องจัดวางสารให้ห่างจากปุ๋ยเคมี และวัตถุอันตรายทางการเกษตรที่อาจเป็นวัตถุไวไฟและเกิดการระเบิดได้
2.ภาชนะบรรจุสารต้องมีฝาปิดมิดชิด
3.เก็บไว้ในอาคารที่มีการถ่ายเทอากาศที่ดี และต้องมีพื้นที่ว่างเหลือไว้
4. สถานที่เก็บห้ามสูบบุหรี่
5.ให้ระมัดระวังการหยิบยกขนย้าย หรือการขนส่ง ให้หลีกเลี่ยงการหยิบ,จับ,โยน อันก่อให้เกิดแรงกระแทก, เสียดสี
6 ห้ามนำไฟ หรือห้ามสูบบุหรี่หรือนำอุปกรณ์ที่ทำให้เกิดประกายไฟ หรือเศษผ้าเปื้อนน้ำมันเข้าไปในสถานที่เก็บรักษา
7. มีแผนการดับเพลิง ต้องมีเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์ดับเพลิงไว้ให้พร้อมใช้งาน
8.ควรมีระบบป้องกันฟ้าผ่า
9. รอบสถานที่เก็บบนพื้นดินต้องปราศวัชพืช วัสดุที่ติดไฟได้ในระยะ50 ฟุต
ตกลง