สาวชุมพรสานต่อที่พ่อสอน ทำเกษตรผสมผสาน ให้ “รวยไป 7 ชั่วโคตร”
20 ต.ค. 2564
297
0
ที่มา : เทคโนโลยีชาวบ้าน
สาวชุมพรสานต่อที่พ่อสอน
สาวชุมพรสานต่อที่พ่อสอน ทำเกษตรผสมผสาน ให้ “รวยไป 7 ชั่วโคตร”

“ทำเกษตรแบบคนรุ่นใหม่ ไม่เครียดและไม่กดดัน เพราะมีหลักคิดง่ายๆ เริ่มทำอย่างไรก็ได้ให้มีความสุขก่อน อย่าเพียงมุ่งหาแต่รายได้ คิดแค่ว่าทำเพื่อลดรายจ่ายก่อน แล้วรายได้จะตามมาทีหลัง” หลักคิดการทำเกษตร ของ คุณเมธยา 

คุณเมธยา ภูมิระวิ หรือ คุณเมย์ อยู่บ้านเลขที่ 343 หมู่ที่ 6 ตำบลวังตะกอ อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร เกษตรกรรุ่นใหม่สานต่องานเกษตรที่พ่อสอน บนเนื้อที่ 27 ไร่ คุณเมย์ เล่าว่า เธอเรียนจบคณะวิทยาการคอมพิวเตอร์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เมื่อเรียนจบเธอตัดสินใจกลับบ้านที่จังหวัดชุมพรทันที ไม่ได้อยู่ทำงานตามสายที่เรียนมา เนื่องจากเคยได้ฝึกงานก่อนที่จะเรียนจบ แต่รู้สึกว่าไม่ใช่วิถีชีวิตที่ชอบ ไม่ชอบทำงานในออฟฟิศที่ต้องตื่นเช้ามาตอกบัตรเข้า-ออก ต้องนั่งทำงานที่มีพาร์ติชั่นกั้นเป็นล็อกๆ รู้สึกอึดอัด จึงคิดว่าที่บ้านก็มีพื้นที่ให้ทำต่อยอด ทำไมไม่กลับไปดูแลพื้นที่ของตัวเอง

เริ่มทำเกษตร บนคำสบประมาท ของชาวบ้าน หาว่า “บ้า” ด้วยความที่ คุณเมย์ เรียนจบคณะวิทยาการคอมพิวเตอร์มา เธอเล่าว่า หากย้อนไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว บุคลากรที่มีความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ขาดแคลน ตลาดกำลังต้องการ แต่เธอเลือกที่จะทิ้งโอกาสแล้วกลับบ้าน แรกๆ คนแถวบ้านหาว่าเธอบ้า มีงานดีๆ ไม่ทำ ซึ่งตอนนั้นเธอคิดแค่ว่า เธอไม่ได้ทำอะไรผิด เธอแค่เลือกในสิ่งที่ตัวเองรัก เลือกที่จะกลับบ้านมาดูแลพ่อแม่ ดูแลแผ่นดินที่ตัวเองเกิด เธอจึงมุ่งมั่นที่จะทำเกษตรบนแนวคิดของเธอให้สำเร็จ และลบคำสบประมาทของชาวบ้านให้ได้  คุณเมย์ บอกว่า พื้นฐานครอบครัวพ่อกับแม่เป็นเกษตรกรปลูกปาล์มน้ำมันมาก่อน มีการเปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้ ซึ่งการทำเกษตรของพ่อ พ่อจะเน้นเรื่องการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ และเรื่องของอารยะขัดขืนในสวนปาล์ม คือปลูกไม้ยืนต้นในสวนปาล์ม จะไม่เชื่อในหลักวิชาการ แต่เชื่อในหลักของการปฏิบัติและเชื่อตามศาสตร์พระราชา

เมื่อกลับมาอยู่บ้าน เธอตั้งต้นด้วยการเข้าไปเป็นสมาชิกเข้าร่วมโครงการพระราชดำริของมูลนิธิหนองใหญ่ กว่า 4 ปี ทำในส่วนของผู้ประสานงาน ดูแลในเรื่องของคณะดูงานและสถานที่ ในระหว่างนั้นก็มีการสะสมองค์ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการแปรรูปผลิตภัณฑ์ต่างๆ แล้วนำมาสอนสมาชิกให้ได้รู้วิธีการและระบบเครือข่ายมากขึ้น หลังจากทำงานครบ 4 ปี สะสมองค์ความรู้ได้พอสมควร จึงลาออกมาทำงานเกษตรต่อที่บ้าน  การเริ่มต้นทำเกษตรของคุณเมย์ เริ่มจากแนวคิดง่ายๆ คือ ทำสิ่งที่ตนเองชอบและมีความสุขก่อน คือการเลี้ยงสัตว์ มีไก่นานาชนิด ไก่พื้นเมือง ไก่ต๊อก ไก่งวง ห่าน ไก่ดำ เลี้ยงจนชำนาญสามารถเพาะขยายพันธุ์แจกเพื่อนบ้าน ได้แบ่งปันเริ่มมีความสุข เริ่มคิดว่าการทำเกษตรก็เหมือนห้องทดลองวิทยาศาสตร์ที่ต้องศึกษาหาความรู้ที่ในทฤษฎีไม่ได้บอกอยากรู้ต้องลงมือทำ เพราะถ้ามีแต่องค์ความรู้ แต่ทำไม่เป็น ก็ได้แค่มอง เธอจึงเลือกที่จะลงมือปฏิบัติจากสิ่งง่ายๆ จากการขยายพันธุ์สัตว์จนสำเร็จได้มีความสุขไปแล้ว จึงขยับมาทำงานสวนต่อ ปลูกไม้ผล ทำสวนป่า ในรูปแบบเกษตรอินทรีย์ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะภายในสวนจะทำน้ำหมักไล่แมลงเอง ทำน้ำหมักปรับโครงสร้างดินแต่ละสูตร ทำปุ๋ยหมักบำรุงพืชเอง เช่น น้ำหมักจาวปลวกเป็นสูตรที่ทำง่ายแต่ได้ผลดี

สูตรน้ำหมักจาวปลวก ทำง่ายได้ผลดี  เริ่มจากการหารังปลวกมาก่อน แล้วขุดเอาดินแข็งๆ ออก เอาแต่รังนิ่มๆ ข้างใน แล้วนำมาผสมน้ำเปล่า กากน้ำตาล รำ แล้วหมักทิ้งไว้ 3 เดือน  วิธีใช้ นำไปรดดิน รดต้นไม้ ช่วยในเรื่องการปรับโครงสร้างของดินให้รากพืชเดินได้สะดวกขึ้น เพราะในรังปลวกมีน้ำลายของปลวก จะมีเชื้อราตัวดี เช่น เชื้อราไตรโคเดอร์มา แบคทีเรียแอคติโนมัยซีท ที่เป็นตัวดีๆ ช่วยเพิ่มจุลินทรีย์และเพิ่มประสิทธิภาพในการปลูกพืชผักให้ได้ผลผลิตดีขึ้น

การทำงานเกษตร ระบบน้ำต้องมาเป็น อันดับ 1 “มีน้ำพอ จัดการดี ทำอะไรก็สำเร็จ” เจ้าของบอกว่า การทำเกษตรให้ประสบความสำเร็จ น้ำ คือ สิ่งสำคัญ ไม่มีน้ำก็ปลูกพืชไม่ได้ ที่สวนจะให้ความสำคัญกับเรื่องน้ำมาเป็น อันดับ 1 มีการจัดระบบน้ำที่ดี หน้าแล้งไม่เคยประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ เพราะวางแผนระบบน้ำให้มีพอใช้ มีการขุดคลองไส้ไก่ เจ้าของอธิบายเพิ่มเติมว่า คลองไส้ไก่ คือร่องระบายน้ำที่มีลักษณะคดเคี้ยวคล้ายกับไส้ไก่ เพื่อชะลอน้ำให้ไหลช้าลง และกระจายความชื้นได้ทั่วถึง ยกตัวอย่าง แปลงทดลองที่สวนมีพื้นที่ไร่ครึ่ง ที่สวนขุดคลองไส้ไก่โดยไม่วางระบบน้ำ แต่ปลูกหญ้าแฝกแทน แล้งที่ผ่านมาต้นไม้บนแปลงไม่ตาย หญ้าเขียวขจี สวนคนอื่นวางระบบน้ำต้องเปิดรดทุกวันเกือบจะไม่รอด แต่คลองไส้ไก่ถึงแม้น้ำจะแห้งแต่มีระบบหญ้าแฝกยึดหน้าดินอยู่ ต้นไม้จึงงาม เพราะหญ้าแฝกมีคุณสมบัติช่วยกักเก็บน้ำ ช่วยกระจายความชุ่มชื้นในดิน แต่จะให้ได้ผลเต็มขั้นคลองไส้ไก่ต้องอยู่คู่กับป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ถึงจะดี มีหญ้าแฝก มีต้นไม้หลากหลาย 5 ระดับขึ้นไป จะช่วยลดการระเหยของน้ำได้ เพราะถ้าเป็นบ่อทั่วไป ในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านตรัสว่าน้ำจะลดทุกวัน ยิ่งบ่อกว้างมาก น้ำจะระเหยมาก ทางที่ดีควรขุดบ่อน้ำให้ลึกกว่า 3.65 เมตร เพื่อป้องกันน้ำระเหย วันละ 1 เซนติเมตร แต่บ่อที่สวนจะขุดไว้ลึกประมาณ 12 เมตร สามารถเลี้ยงปลาหาอาหารได้ และยังมีน้ำไว้แบ่งปันเพื่อนบ้านยามฉุกเฉินหน้าแล้งได้เพียงพอ

บริหารจัดการพื้นที่ ทำทุกตารางนิ้วเป็นเงิน  พื้นที่ทำการเกษตรของคุณเมย์ มีทั้งหมด 27 ไร่ คุณเมย์ แบ่งพื้นที่ไว้ขุดสระทำบ่อน้ำไว้ใช้ในการเกษตร 7 ไร่ ปลูกปาล์มน้ำมันผสมกับสวนป่า 9 ไร่ สวนผสมไม้ผล 6 ไร่ และแบ่งพื้นที่ไว้ทดลองทำโคกหนองนาโมเดล 1 ไร่ คุณเมย์ บอกว่า ยิ่งทำให้ครบวงจร จะยิ่งลดค่าใช้จ่ายได้มากเท่านั้น การทำเกษตรถ้าทำอย่างเดียว เมื่อเกิดปัญหาจะพาลำบากกันไปทั้งบ้าน ทางที่ดีคือ ผสมสผสาน ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง มีป่า มีสัตว์ ทำให้ระบบนิเวศสมบูรณ์ เมื่อระบบนิเวศสมบูรณ์สัตว์จะเริ่มจัดการกันเอง ทำปุ๋ยก็ไม่ต้องกลับกองเอง ใช้ไก่ในการคุ้ยเขี่ยสลับกองให้ และยังช่วยกำจัดวงจรแมลงวัน หรือที่สวนเลี้ยงปลา หากไก่ตายก็สามารถเอาไก่ไปให้ปลากินเป็นอาหารได้อีก รวมถึงการทำน้ำหมักจะเน้นในเรื่องของการนำเศษอาหารในครัวเรือน จากคณะที่มาศึกษาดูงาน ที่เหลือมาทำน้ำหมัก มาผสมกับรำ ทำเป็นอาหารปลา พยายามทำตามฟันเฟืองของธรรมชาติ อย่าไปฝืนธรรมชาติ ถ้าอยู่กับธรรมชาติได้ รายได้จะมาเอง

ดูแลสวนคนเดียว 27 ไร่ ทำได้ไม่ยาก และทำอย่างมีประสิทธิภาพ คุณเมย์ เล่าถึงการดูแลจัดการสวนทั้ง 27 ไร่ คนเดียวว่า เมื่อสวนเป็นระบบจะจัดการดูแลได้ไม่ยาก ทำอะไรก็ง่าย ทำให้เป็นวิถี ไม่ได้คิดให้เป็นงาน ทำเพื่อการอยู่รอดการเลี้ยงชีพ เธอบอกว่าปัจจุบันที่บ้านไม่ได้ใช้เตาแก๊สมานาน 15 ปีแล้ว ใช้ฟืนมาตลอด แต่ว่าไม่ได้เป็นการล้าหลัง แต่เป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เราปลูกไม้แล้วทำไมต้องเอาเงินไปซื้อเชื้อเพลิงจากข้างนอก เราก็ไปเก็บกิ่งไม้มาทำเป็นเชื้อฟืน เก็บน้ำส้มควันไม้มาไล่แมลง เมื่อมีการเผาอย่างเป็นระบบมันจะช่วยไล่แมลงไปเอง ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ ใน 1 วัน มีงานให้ทำไม่ได้หยุด  เริ่มจากตื่นเช้ามา หาอาหารให้เป็ด ไก่ ระหว่างทางจะเดินดูแลต้นไม้ไปด้วย เสร็จแล้วมาปล่อยวัวไปหาอาหาร หลังจากนั้นจะมาดูแลในส่วนของสวนป่าและไม้ผล หนึ่งวันหลังจากดูแลเป็ดไก่เสร็จ จะมีเวลาว่างเหลืออีก 5-6 ชั่วโมง เวลา 5-6 ชั่วโมง อาจจะเดินได้ไม่ทั่วสวน เธอก็จะดูเป็นรอบๆ แบ่งกันไป แล้วแต่จะจัดโปรแกรมว่าวันนี้จะไปทำตรงไหน เช่น วันนี้จะเข้าไปดูสวนหม่อน ก็เข้าไปตัดแต่งกิ่งหม่อน รดน้ำ กำจัดวัชพืชต่างๆ ส่วนของวันพรุ่งนี้ก็ไปทำอย่างอื่น สลับหมุนเวียนกันไป ทำทุกวันให้มีความสุข อย่าคิดว่ามันเป็นงาน นี่คือ ระบบจัดการสวนทั้ง 27 ไร่ ใช้แรงงานเพียงคนเดียวในแบบฉบับของเธอ

สูตรอาหารเลี้ยงสัตว์ลดต้นทุนมี ดังนี้  อาหารปลา นำเศษอาหารที่เหลือมาผสมกับรำคลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วปั้นเป็นก้อนขนาดเท่าลูกเปตอง เพราะต้องการให้ก้อนอาหารจมลงไปใต้บ่อเหมือนอาหารกุ้ง แล้วปลาจะกินไปเรื่อยๆ ช่วยประหยัดเวลาการให้อาหาร 3 วัน ให้ 1 ครั้ง หรือทำเป็นแซนด์วิชให้เกิดหนอนแดงไรแดงขึ้นเอง ปลาที่นี่จะเลี้ยงแบบธรรมชาติ เลี้ยงเป็น 2 ระบบ  บ่อดิน เลี้ยงในบ่อปูนซีเมนต์ ใช้โซล่าร์เซลล์ โดยการให้น้ำหมุนเวียนตลอดเวลา อาหารไก่ ตอนเช้าใช้วิธีการถอนหญ้า และวัชพืชต่างๆ มาให้เป็ดให้ไก่กิน ช่วงบ่ายจะหุงข้าวผสมกับรำและข้าวเปลือกคลุกเคล้าเป็นอาหารอีกมื้อ หรือถ้าวันไหนขยันจะสับต้นกล้วยผสมลงไปด้วย และยังมีน้ำหมักเศษอาหารไว้จนได้ที่ก็จะเกิดหนอน ซึ่งเป็นหนอนที่มีโปรตีนก็จะมาจับให้เป็ดให้ไก่กิน

ไม้ผล ใช้น้ำหมักชีวภาพ ลงทุนซื้อเครื่องที่ใช้ฉีดพ่นสารเคมีมาฉีดพ่นดูแล ทุกๆ 15 วัน จะฉีดน้ำหมักไล่แมลงและบำรุงฉีดไปพร้อมกันเลย สัดส่วนการทำน้ำหมัก 3:1:1:10 อัตราส่วนจะคล้ายกันหมด ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ว่าจะใช้ไล่แมลงหรือบำรุงต้นไม้ และขึ้นอยู่กับสมุนไพรที่จะใช้หมัก เช่น วันนี้อยากไล่แมลง ให้นำยาเส้นและใบสาบเสือทุบรวมกัน 3 กิโลกรัม ผสมกับสารให้ความหวาน 1 ส่วน หัวเชื้อ 1 ส่วน น้ำสะอาด 10 ส่วน ทิ้งไว้ 3 เดือน ใช้ได้ แต่ถ้าเร่งรัดหนอนลงแรงมาก รอ 3 เดือน ไม่ไหว ให้นำข่ามาตำหรือทุบแช่น้ำไว้แล้วต้มทิ้งไว้ 1 วัน แล้วนำมาพ่นไล่หนอนไล่แมลง และสารชีวภาพพวกนี้ให้ทำสูตรใช้สลับกันไป อย่าใช้ซ้ำ ไม่อย่างนั้นแมลงจะชินใช้ไม่ได้ผล

สวนเป็นระบบ รายจ่ายแทบไม่มี มีแต่รายรับ คุณเมย์ สามารถจัดสรรพื้นที่ทุกตารางนิ้วให้กลายเป็นเงินได้อย่างน่าทึ่ง รายจ่ายภายในสวนจึงแทบไม่มี จะมีแต่เพียงค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเตอร์เน็ต เพียงเท่านั้น เจ้าของบอกว่า ถ้าเป็นค่าใช้จ่ายในส่วนของการทำสวน จะมีแค่เพียงค่าข้าวที่นำมาหุงเลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ เดือนละ 3,500 บาท เพราะยังไม่ได้ปลูกข้าวไว้กินเอง แต่ตอนนี้กำลังวางแผนปลูกข้าวเพิ่มแล้ว ส่วนค่าใช้จ่ายในส่วนอื่นแทบไม่มี เพราะปุ๋ยก็เป็นปุ๋ยที่ทำเอง โดยการนำเศษทุเรียนที่เหลือทิ้งจากคนในพื้นที่มาทำปุ๋ยหมักและแปลงเป็นเงิน อย่างปีที่แล้วทำได้เยอะกว่า 200 ตัน ทำเป็นวัสดุปลูกไว้ใช้ในสวน เมื่อเหลือก็ทำขายตักใส่ถุง 5 กิโลกรัม ราคาถุงละ 20 บาท นี่คือ รายได้ส่วนที่หนึ่ง 

รายได้ส่วนที่ 2 รายได้จากสวนปาล์มทุก 20 วัน มีรายได้ 15,000-20,000 บาท 

รายได้ส่วนที่ 3 เก็บไข่ไก่ ไข่เป็ด ขายให้พนักงานโรงพยาบาลหลังสวนทุก 4 วัน ราคาไข่เป็ด ฟองละ 4 บาท ไข่ไก่ฟองละ 3.50 บาท 

รายได้ส่วนที่ 4 รายได้จากการขายผลไม้พื้นถิ่น มะเม่า กระท้อน หม่อน ชมพู่น้ำดอกไม้ เก็บส่งไปให้พี่สาวรับซื้อกิโลกรัมละ 50 บาท เพื่อไปแปรรูปทำไอศกรีม

รายได้ส่วนที่ 5 รายได้จากการทำผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะเฟือง ทำเป็นผลิตภัณฑ์เช็ดทำความสะอาดใบหน้าจากมะเฟือง (โทนเนอร์)

รายได้ส่วนที่ 6 รายได้จากการเป็นวิทยากรให้ความรู้ด้านงานเกษตร

และส่วนสุดท้าย ไม่ได้เป็นเงินตรา แต่ได้อิ่มท้องและสุขใจ ได้แบ่งให้เพื่อนบ้านกินด้วย ปลาที่บ้านตัวใหญ่ น้ำหนักตัวละ 5 กิโลกรัม ปลาสวาย น้ำหนัก 20 กิโลกรัม ต่อตัว

ข้อมูลเพิ่มเติม https://www.technologychaoban.com/agricultural-technology/article_125862?fbclid=IwAR2qYjk1NVRNLoTmGh8dIhVLOcIw22RU7CV3TV9v6fSE3phYkgMmn8Vm25A

 

ตกลง