(ขนุนทองสิน) ขนุนยางน้อย ติดผลดก รสชาติหวาน อร่อย
22 ก.พ. 2565
696
0
ที่มา : เทคโนโลยีชาวบ้าน
(ขนุนทองสิน) ขนุนยางน้อย ติดผลดก รสชาติหวาน อร่อย
(ขนุนทองสิน) ขนุนยางน้อย ติดผลดก รสชาติหวาน อร่อย

จากข้อมูลพบว่า “ขนุนทองสิน” เกิดจากการกลายพันธุ์ด้วยการเอาเมล็ดของขนุนสายพันธุ์ดีนำไปเพาะเมล็ด แล้วนำเอาต้นกล้าที่ได้ไปปลูกจนมีดอกและติดผล ปรากฏว่า เนื้อสุก หรือเรียกว่า ยวง มีความหนามาก รสชาติหวาน กรอบ มีกลิ่นหอม (คล้ายกลิ่นดอกนมแมว) ทานอร่อยมาก ทราบว่าเจ้าของได้คัดพันธุ์เอาเฉพาะต้นที่ดีที่สุดไปปลูก ทดสอบอยู่หลายวิธีและหลายครั้ง จนมั่นใจว่ากลายพันธุ์ถาวรแน่นอนแล้ว จึงตั้งชื่อว่า “ขนุนทองสิน”  “ขนุนทองสิน” นั้นมีลักษณะเหมือนกับขนุนทั่วไป คือ เป็นไม้ยืนต้น ดอกแยกเพศ ดอกตัวเมียและดอกตัวผู้อยู่บนต้นเดียวกัน โดยช่อดอกตัวผู้จะออกที่โคนกิ่ง ลำต้น และง่ามใบ ดอกเป็นแท่งยาว 2.5 เซนติเมตร ส่วนดอกตัวเมียเป็นแท่งกลม ออกตามลำต้น ก้านช่อดอกใหญ่กว่าก้านช่อดอกตัวผู้ชัดเจน และที่สำคัญเป็นจุดต่างคือ ดอกตัวผู้จะมีกลิ่นหอมคล้ายกลิ่นส่าเหล้า ดอกตัวเมียไม่มีกลิ่น

ลักษณะเด่นของขนุนทองสิน “ผลขนุนทองสิน” ทรงผลกลมรียาว โตเต็มที่น้ำหนักเฉลี่ย 8-15 กิโลกรัม ต่อผล (ขึ้นอยู่กับการไว้ผลบนต้นให้เหมาะสม) ผลสุกไม่แตกอ้า เนื้อไม่เป็นสนิม ซังมีน้อย ขนาดของซังใหญ่และหนารับประทานได้ เนื้อสุกหนาสีเหลืองเข้ม รสชาติหวาน กรอบ อร่อยมาก มีกลิ่นหอมมาก เมล็ดเล็ก  ที่สำคัญเป็นขนุนที่ยางน้อยมาก ทำให้เวลาแกะขนุน มือแทบไม่เปื้อนยางขนุนเลย ปริมาณเนื้อ 50 เปอร์เซ็นต์ ของน้ำหนักผล ติดผลดกเกือบทั้งปี โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนเป็นช่วงที่ขนุนทุกพันธุ์จะมีรสชาติไม่หวาน แต่ “ขนุนทองสิน” ยังหวานหอม อร่อยเหมือนเดิม ผลขนุนมีขนาดกลาง แต่เปลือกบาง เนื้อแน่นมาก ขยายพันธุ์ได้หลายวิธี ที่นิยมคือ การทาบกิ่ง, การเสียบยอด เป็นต้น  เป็นขนุนทวาย ขนุนทองสิน นั้น ออกผลตลอดทั้งปี จากที่ “สวนคุณลี” อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร โทร. (081) 886-7398 ปลูกขนุนทองสินลงดินเพียง 2 ปีเท่านั้น ขนุนพันธุ์ทองสินก็ออกดอกติดผลให้เก็บเกี่ยวได้แล้ว ถือว่าเป็นขนุนพันธุ์เบาที่ไม่ต้องใช้เวลานานถึง 4-5 ปี เหมือนขนุนบางสายพันธุ์ ทำให้สร้างรายได้แก่เกษตรกรได้ในระยะอันสั้น ที่สำคัญนอกจากความหวาน เนื้อหนา ทานอร่อยแล้ว เป็นขนุนที่แทบจะไม่มียางเลย (มียางน้อยมาก) ซึ่งเป็นที่ถูกใจแก่ผู้ที่ซื้อผลไปทาน โดยการแกะเนื้อขนุนทานจะไม่ยุ่งยากอีกต่อไป

ฤดูปลูกขนุนทองสิน ระยะเวลาที่เหมาะสมคือ ช่วงต้นฤดูฝนโดยเฉพาะในเขตที่ดอน เพราะต้นไม้จะได้รับน้ำฝนและความชื้นอย่างสม่ำเสมอและเพียงพอ ทำให้ประหยัดแรงงานและการดูแลรดน้ำหลังจากปลูกใหม่ๆ เวลาของการปลูกควรจะปลูกในช่วงเช้าหรือช่วงเย็น ซึ่งเป็นช่วงที่มีอากาศไม่ร้อนจัด การปลูกขนุนในพื้นที่ทั่วๆ ไป ถ้าเป็นที่ๆ เคยปลูกพืชอื่นอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องเตรียมดินมาก เพียงแต่ปรับหน้าดินโดยการไถพรวน ใส่ปุ๋ยคอกเก่าๆ หรือปุ๋ยหมัก ส่วนที่เป็นป่าเปิดใหม่ ต้องถางให้โล่งเตียนไม่ให้มีไม้อื่นปะปนอยู่ ไถพรวนสัก 2 ครั้ง ก็เป็นการเพียงพอ เพราะตามปกติในพื้นที่ดังกล่าวมักเป็นดินร่วนซุยและมีอินทรียวัตถุการปลูกขนุนตามธรรมชาติมากอยู่แล้ว  อย่างไรก็ตาม ถ้าดินเป็นทรายจัด หรือไม่ค่อยมีอินทรียวัตถุก็ควรใส่มูลสัตว์กระดูกป่น เศษใบไม้ หญ้าที่ผุพัง กากถั่ว เปลือกถั่ว ฯลฯ ซึ่งสามารถหาได้ง่ายในท้องถิ่น หรือจะปรับปรุงดินโดยการปลูกพืชตระกูลถั่ว และไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสดในผุพังอยู่ในดินก็ได้สิ่งต่างๆ เหล่านี้ จะช่วยให้ดินร่วนซุย การระบายน้ำและอากาศของดินดี ดินอุ้มน้ำดีขึ้น เป็นสภาพที่เหมาะแก่การเจริญเติบโตของต้นขนุนมาก

การปลูก การปลูกขนุนในบริเวณที่ลุ่ม น้ำท่วมถึง ต้องยกร่องเสียก่อน เพื่อไม่ให้น้ำท่วมถึงโคนต้น นอกจากนั้นการมีร่องสวนจะสะดวกในการให้น้ำและระบายออก ขนาดของร่องควรกว้างอย่างน้อย 6 เมตร คูน้ำ กว้าง 1.5 เมตร ความยาวของร่องแล้วแต่ขนาดของพื้นที่หลังร่อง ยิ่งสูงมากยิ่งดี รากขนุนจะได้เจริญอย่างเต็มที่ เมื่อขุดร่องเสร็จแล้วควรปรับปรุงดิน โดยการขุดตากดิน ใส่ปุ๋ยคอกเก่าๆ ปุ๋ยหมัก เพื่อให้ดินร่วนซุยด้วย เช่นเดียวกัน ถ้าเป็นพื้นที่ดินเหนียวก็ควรปลูกพืชล้มลุก หรือพืชตระกูลถั่ว 2-3 ครั้ง จะทำให้ดินร่วนซุยดีขึ้น หรือใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักมากๆ จึงค่อยปลูกขนุนภายหลัง สำหรับพื้นที่ที่เป็นร่องสวนเก่า มีคันคูอยู่แล้ว เคยปลูกพืชอย่างอื่นจนดินร่วนซุยดี อาจจะปรับปรุงดินอีกเล็กน้อย ก็สามารถปลูกได้

ระยะปลูก การปลูกขนุนทั้งแบบยกร่องและปลูกแบบไร่ ควรปลูกให้เป็นแถวเป็นแนว เพื่อสะดวกในการดูแลรักษาและการปฏิบัติงานสวน การปลูกในพื้นที่ดอน ควรให้ระยะห่างระหว่างต้น หรือระหว่างหลุม คือ 8×8 หรือ 10×10 เมตร เป็นระยะที่เหมาะสมสำหรับขนุนที่เป็นไม้ผลอายุยืน ซึ่งในพื้นที่ 1 ไร่ จะปลูกได้ประมาณ 16-25 ต้น การปลูกแบบยกร่องต้นมักมีขนาดเล็กกว่าแบบไร่ ระยะระหว่างต้นอาจถี่กว่านี้ก็ได้ คือ ประมาณ 6×7.5 เมตร ในพื้นที่ 1 ไร่ จะปลูกได้ประมาณ 35 ต้น ก็เลือกใช้ตามความเหมาะสมของแต่ละท่าน ช่วงเวลาที่เหมาะสมให้ปลูกช่วงต้นฤดูฝน 7 วันแรก หลังจากปลูก  ถ้าฝนไม่ตกควรรดน้ำทุกวัน หลังจากนั้นถ้าฝนยังไม่ตกอีก ควรรดน้ำประมาณ 1-3 วัน/ครั้ง ตามความเหมาะสม จนเห็นว่าตั้งตัวดี จึงเว้นการรดน้ำให้ห่างออกไปกว่านี้ หรืออาจปล่อยไว้ตามธรรมชาติก็สามารถเจริญเติบโตได้ดี เพราะโดยปกติขนุนเป็นพืชที่ทนแล้งอยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม การปลูกเพื่อให้ได้ผลเต็มที่นั้น ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอในฤดูแล้ง พวกที่เริ่มปลูกเป็นปีแรก ควรรดน้ำทุกระยะ 7 วัน และการให้น้ำในฤดูแล้งปีที่ 2 สามารถยืดเวลาให้น้ำออกไปเป็น 10-15วัน/ครั้ง หรือช่วงที่ขาดฝนนานๆ ควรให้น้ำช่วยบ้าง จะทำให้การเจริญเติบโตเป็นไปตามปกติ

การใส่ปุ๋ย การพรวนดินบริเวณรอบๆ ทรงพุ่มต้นขนุน ควรทำเป็นประจำปีละ 1-2 ครั้ง เมื่อพรวนดินแล้วให้ใส่ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก จะช่วยทำให้ดินร่วนซุย ขณะที่ต้นขนุนยังเล็กควรใส่ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) ต้นละ 2 ช้อนแกง ผสมน้ำ 1 ปี๊บ รดบริเวณโคนต้น 2 สัปดาห์ ต่อครั้ง ประมาณ 3 ครั้ง หลังจากนั้นทุก 3 เดือน ให้ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 ครั้งละประมาณ 100 กรัม หว่านรอบโคนต้น  เมื่อต้นอายุเริ่มเข้าปีที่ 2 ปุ๋ยเคมีที่ใช้ จะใช้สูตรเสมอ เช่น สูตร 15-15-15 หรือ สูตร 16-16-16 จำนวนปุ๋ยที่ใส่ประมาณครึ่งหนึ่งของอายุต้นขนุน เช่น ขนุนอายุ 1 ปี จำนวนปุ๋ยที่ใส่เท่ากับครึ่งกิโลกรัม โดยแบ่งใส่ 2-3 ครั้ง/ปี ต่อไปหลังจากที่อายุตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป  การใส่ปุ๋ย ควรพิจารณาจากผลผลิตในแต่ละปี ถ้าปีไหนให้ดอก ผลดก ก็จะใส่ปุ๋ยมากขึ้นตามความเหมาะสม วิธีใส่ปุ๋ย ควรพรวนดินตื้นๆ รอบๆ บริเวณรัศมีของทรงพุ่มขนุน การใส่ปุ๋ยเคมี ควรใส่พร้อมกับการใส่ปุ๋ยอินทรีย์ หลังใส่ปุ๋ยแล้วรดน้ำตามทุกครั้งให้ปุ๋ยเคมีละลายจนหมด

 การตัดแต่งกิ่ง ในปีแรกให้ตัดยอดกลาง สูงจากพื้นประมาณ 1 เมตร เพื่อให้ต้นขนุนแตกแขนงข้าง แล้วเลือกกิ่งแขนงไว้ ประมาณ 3-5 กิ่ง เพื่อให้เป็นกิ่งหลักในอนาคต โดยเลือกไว้กิ่งที่สมบูรณ์ ทำมุมกว้างกับลำต้น หรือกิ่งที่ขนานไปกับพื้น  ในปีที่ 2-3 ปล่อยให้กิ่งแขนงที่เลือกไว้เจริญจนสุดตัว แต่ถ้ามีกิ่งแขนงย่อยแตกจากกิ่งแขนงใหญ่แน่นเกินไป ให้ตัดกิ่งแขนงย่อยออกบ้าง นอกจากนี้ ให้ตัดแต่งกิ่งที่เป็นโรค กิ่งที่ฉีกขาดและแห้ง กิ่งกระโดงออกได้ทุกเมื่อ โดยเฉพาะหลังเก็บเกี่ยวแล้วถ้าได้ปฏิบัติตัดแต่งมาตั้งแต่ปีแรกๆ ในปีต่อๆ ไป จะตัดแต่งกิ่งแต่เพียงเล็กน้อยก็เพียงพอ

การห่อผลขนุน การห่อขนุนนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มคุณภาพของผล ทำให้ผิวสวย สะอาด ไม่มีคราบของเชื้อรา และการทำลายของแมลงศัตรู เช่น หนอนเจาะ หรือแมลงปีกแข็ง วัสดุที่ใช้ห่อจะใช้ถุงกระดาษห่อกล้วย, กระสอบอาหารสัตว์, ถุงพลาสติกห่อกล้วยหอม เป็นต้น นำมาสวมคลุมผลขนุน ปากถุงผูกติดกับก้านผลไว้ โดยเปิดก้นถุงเอาไว้  การห่อผลจะเริ่มห่อเมื่อผลขนุนมีอายุได้ 60 วัน และจะห่ออยู่นานประมาณ 90 วัน โดยทั่วไปก่อนห่อควรพ่นสารเคมีป้องกันแมลงและโรคก่อนประมาณ 1 วัน เพื่อป้องกันการทำลายของโรคและแมลงศัตรู

การให้ผล ขนุนที่ปลูกด้วยกิ่งตอน กิ่งทาบ หรือเสียบยอด จะออกดอกและผลประมาณปีที่ 3-4 หลังจากปลูก ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการบำรุงรักษาด้วย รวมถึงสายพันธุ์ขนุน  “ขนุนทองสิน” จัดเป็นขนุนพันธุ์เบา ที่หลังปลูกเพียง 2 ปี ก็ให้ผลผลิตแล้ว โดยขนุนมีดอกตัวผู้อยู่บนต้นเดียวกัน แต่แยกกันเป็นคนละดอก ดอกจะออกตามลำต้นและกิ่ง ดอกตัวผู้เรียกว่า “ส่า” เพราะมีกลิ่นคล้ายส่าเหล้า ซึ่งจะร่วงไปในเวลาต่อมา  ส่วนดอกตัวเมียจะมีสีเขียวและขนาดใหญ่กว่าดอกตัวผู้ เมื่อได้รับการผสมแล้ว จะเจริญเติบโตเป็นผลแก่ภายใน 4 เดือน ปกติขนุนจะออกผลปีละ 2 ครั้ง ครั้งแรก ราวเดือนธันวาคม-มกราคม และครั้งที่ 2 ราวเดือนสิงหาคม-กันยายน แต่พบว่าบางต้นที่ให้ผลเรื่อยๆ ตลอดปีก็มี  ส่วนผลผลิต ขึ้นกับขนาดของลำต้น เช่น ต้นอายุ 10 ปีขึ้นไป จะออกผลประมาณ ปีละ 40-50 ผล เพื่อให้ได้ขนุนคุณภาพดี ควรไว้ผลครั้งละประมาณ 20 ผล โดยการตัดผลที่ถูกโรคแมลงทำลาย ผลที่มีขนาดเล็ก ผลที่เสียทรงออกทิ้ง โดยคาดคะเนว่าไม่มากเกินไป

 การเก็บผลขนุน เพื่อความถูกต้องและแม่นยำ อาจต้องใช้หลายวิธีประกอบกัน ก่อนตัดขนุน จึงจะทำให้ได้ขนุนแก่คุณภาพดี วิธีสังเกตว่า ขนุนแก่พร้อมเก็บเกี่ยวได้นั้นสามารถสังเกตได้ เช่น สังเกตจากตาหนามของผลที่ขยายห่าง ถ้าห่างมาก และปลายหนามแห้ง เป็นสีน้ำตาลดำ ตัวหนามแบนราบ มองเห็นปลายหนามแห้งเป็นจุดดำๆ ซึ่งเป็นวิธีที่นิยมของเกษตรกร  หรืออาจสังเกตจากผิวผลขนุน หรือใช้การทดสอบโดยเอามีดกรีดบริเวณขั้วของผล ถ้าผลสุกจะมียางไหลออกมาน้อย และมีลักษณะใส ถ้ายางไหลออกมามาก ข้นเป็นสีขาว แสดงว่า ยังไม่แก่ หรือใช้การนับอายุของผลตั้งแต่ดอกเริ่มผสมติดจนผลแก่ ประมาณ 120-160 วัน หรือใช้วิธีเคาะฟังเสียง ถ้ามีเสียงดังปุๆ แสดงว่าผลแก่ปกติขนุนจะให้ผลอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ในระหว่างเดือนมกราคม-พฤษภาคม แต่ก็พบว่า ขนุนพันธุ์ “ทองสิน” มีการออกทวายในเดือนอื่นๆ ด้วย ในเขตสภาพแวดล้อมเหมาะสม การปฏิบัติดูแลรักษาดี มีน้ำอุดมสมบูรณ์ ขนุนเป็นผลไม้ที่ไม่มีปัญหา  ด้านแรงงานเก็บเกี่ยวเหมือนผลไม้ชนิดอื่น เช่น เงาะ ลำไย มะขามหวาน ซึ่งต้องใช้คนจำนวนมากในการเก็บเกี่ยว เกิดการแย่งแรงงานทำให้ค่าแรงในการเก็บเกี่ยวสูงการเก็บขนุนสามารถเก็บโดยใช้คนเพียงคนเดียว อย่างสวนขนุนใหญ่ๆ ต้นมีอายุมาก ต้นสูงใหญ่ ถ้าผลขนุนอยู่สูง ก็จะใช้เชือกไนลอน ขนาด 2 นิ้ว ขมวดเป็นปมเพื่อใช้เป็นตัวดึง ส่วนปลายเชือกอีกด้านหนึ่ง รัดกับส่วนขั้วของผลขนุน แล้วค่อยๆ หย่อนผลลงมาที่พื้น ซึ่งจะทำให้ผลไม่บอบช้ำ  เมื่อเก็บผลลงมาแล้ว ควรตัดขั้วขนุนบริเวณใต้ปลิงออก ให้เหลือเพียงประมาณ 2 นิ้ว เอียงผลขนุนลงไปทางด้านขั้วผล เพื่อให้ยางขนุนไหลออกได้สะดวก  จากการสังเกตพบว่า วิธีนี้จะช่วยทำให้ขนุนสุกเร็วขึ้น เนื้อยวงจะแห้งดี ไม่แฉะ จากนั้นจึงนำส่งขายให้กับพ่อค้าต่อไป ซึ่งตอนนี้ ทาง “สวนคุณลี” ได้ทำการขยายพันธุ์โดยวิธีการทาบกิ่งและเสียบยอด เพื่อให้ได้ต้นพันธุ์ที่มีรากแก้ว เพื่อให้ต้นมีอายุยืน ทนต่อแรงลม เพราะมีรากแก้วเกาะยึดดินได้ดี ทนต่อดินทุกสภาพ เป็นต้น

 

ตกลง