ทุเรียนระวัง โรคใบติด หรือใบไหม้
15 มี.ค. 2567
11
0
ที่มา : สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร
ทุเรียนระวัง โรคใบติด หรือใบไหม้
ทุเรียนระวัง โรคใบติด หรือใบไหม้

ทุเรียนระวัง โรคใบติด หรือใบไหม้


ระยะนี้สภาพอากาศร้อนแล้ง มีฝนตกเข้าผสมโรง เตือนเกษตรกรชาวสวนทุเรียนให้เฝ้าระวังการระบาดของ โรคใบไหม้ หรือ โรคใบติด ที่เกิดจากเชื้อราไรซอกโทเนีย (Rhizoctonia sp.) พบได้ทั้งในระยะพัฒนาผลไปจนถึงระยะเก็บเกี่ยว
อาการเริ่มแรกจะพบบนใบมีแผลคล้ายถูกน้ำร้อนลวก ต่อมาแผลจะขยายตัวและเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล มีขนาดและรูปร่างไม่แน่นอน จากนั้นจะลุกลามไปยังใบปกติข้างเคียง
กรณีที่มีความชื้นสูงเชื้อราสาเหตุโรคจะสร้างเส้นใยคล้ายใยแมงมุมยึดใบให้ติดกัน ใบที่เป็นโรคจะไหม้ แห้ง หลุดร่วงไปสัมผัสกับใบด้านล่าง ทำให้โรคระบาดลุกลามจนเห็นใบไหม้เกิดเป็นหย่อมๆ ใบแห้งติดกันเป็นกระจุกแขวนค้างตามกิ่ง ต่อมาใบจะร่วงจนเหลือแต่กิ่ง และกิ่งแห้งในที่สุด ทำให้ต้นทุเรียนเสียรูปทรง
แนวทางในการป้องกัน เกษตรกรควรหมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ หากพบการระบาดของโรคให้ตัดส่วนและเก็บเศษพืชที่เป็นโรคและใบที่ร่วงหล่นนำไปทำลายนอกแปลงปลูก เพื่อลดปริมาณเชื้อสะสมของเชื้อราในแปลง
จากนั้นให้ฉีดพ่นสารกำจัดเชื้อราที่ใบให้ทั่วทั้งต้นด้วย คอปเปอร์ไฮดรอกไซด์ 77% ดับเบิ้ลยูพี หรือ คอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ 85% ดับเบิ้ลยูพี หรือ คอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ 65.2% ดับเบิ้ลยูจี หรือ คิวปรัสออกไซด์ 86.2% ดับเบิ้ลยูจี หรือ คอปเปอร์ออกซีคลอไรด์+คอปเปอร์ไฮดรอกไซด์ 24.6% (14%copper metal) +22.9% (14% copper metal) ดับเบิ้ลยูจี หรือ เฮกซะโคนาโซล 5% เอสซี หรือ เพนทิโอไพแรด 20% เอสซี หรือ ฟลูไตรอะฟอล 12.5% เอสซี หรือ ทีบูโคนาโซล+ไตรฟลอกซีสโตรบิน 50%+25% ดับเบิ้ลยูจี หรือ โทลโคลฟอสเมทิล 50% ดับเบิ้ลยูพี ผสมน้ำในอัตราส่วนตามที่ระบุไว้ในฉลากคำแนะนำ ฉีดพ่นทุก 7 วัน
สำหรับในแปลงปลูกที่มีความชื้นสูงและมีการระบาดของโรคเป็นประจำ ให้หลีกเลี่ยงการใส่ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนสูง เพื่อลดการแตกใบของต้นทุเรียน จากนั้นให้ตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่งและกำจัดวัชพืชในแปลงปลูก เพื่อให้ต้นทุเรียนได้รับแสงแดด อากาศถ่ายเทสะดวก ทำให้สภาพแวดล้อมไม่เหมาะต่อการระบาดของเชื้อรา อีกทั้งควรทำความสะอาดอุปกรณ์การเกษตรเมื่อใช้กับต้นที่เป็นโรคก่อนนำกลับมาใช้ใหม่ทุกครั้ง.

ตกลง