“ ส้มควาย ” สมุนไพรเพื่อสุขภาพ สินค้าโอท็อปชื่อดังของจังหวัดภูเก็ต
9 มิ.ย. 2560
15,218
0
“ ส้มควาย ” สมุนไพรเพื่อสุขภาพ สินค้าโอท็อปชื่อดังของจังหวัดภูเก็ต
“ส้มควาย”สมุนไพรเพื่อสุขภาพ
“ ส้มควาย ” สมุนไพรเพื่อสุขภาพ สินค้าโอท็อปชื่อดังของจังหวัดภูเก็ต

“ ส้มควาย ” สมุนไพรเพื่อสุขภาพ สินค้าโอท็อปชื่อดังของจังหวัดภูเก็ต

 
ผลส้มควาย

“  ส้มควาย ”  ผลไม้รสเปรี้ยว ตระกูลเดียวกับ “  ส้มแขก ” นิยมใช้เป็นพืชอาหารและพืชสมุนไพร ส้มควาย พบได้แพร่หลายในพื้นที่ภาคใต้  โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เนื่องจากชาวบ้านนิยมปลูกส้มควายเป็นไม้ผลประจำบ้าน  ต้นส้มควายภูเก็ต มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือขนาดผลใหญ่เนื้อมาก ชาวบ้านนิยมนำส้มควายมาปรุงอาหารสารพัดเมนู ทั้ง แกงส้ม แกงเลียง ต้มเนื้อ  ต้มปลา

ภูมิปัญญาชาวบ้านในสมัยโบราณ นิยมนำส้มควายมาตากแห้ง และบดเป็นผงก่อนนำมาผสมกับน้ำร้อน เพื่อแช่เท้า ลดอาการปวดเมื่อย อาการเท้าบวม และช่วยระงับกลิ่นเท้าได้เป็นอย่างดี  ในยุคปัจจุบัน ผลวิจัยทางการแพทย์พบว่า  “ ส้มควาย ”  เป็นพืชสมุนไพรที่มีสรรพคุณทางยา ช่วยในการระบาย และมีกรดผลไม้ ประเภทสาร AHA ช่วยบำรุงผิวพรรณให้กระจ่างใส คุณประโยชน์ที่ดีของส้มควาย ทำให้พืชสมุนไพรชนิดนี้เป็นที่ต้องการของตลาดผู้บริโภค อุตสาหกรรมยาและเครื่องสำอาง เพราะส้มควายเป็นพืชสมุนไพรที่ไม่มีสารตกค้างในร่างกาย

คุณณัฐณิชา  บุญยวรรณ เล็งเห็นโอกาสทางการตลาดของพืชสมุนไพรชนิดนี้ จึงได้นำภูมิปัญญาท้องถิ่นจาก ผงส้มควาย สำหรับแช่เท้า มาต่อยอดพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ในลักษณะ “  สเปรย์ดับกลิ่นเท้าส้มควาย ” ที่มีรูปลักษณ์สวยงาม ทันสมัย และสะดวกในการใช้งานมากขึ้น ภายใต้ชื่อ “  Jeni Herb Phuket ”

คุณณัฐณิชา ได้รับการคัดเลือกให้เป็นตัวแทนเยาวชนของจังหวัดภูเก็ตเข้าร่วมการประกวดสุดยอดเยาวชนโอท็อปไทย ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย จัดขึ้น เพื่อกระตุ้นให้เยาวชนร่วมอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น และเตรียมความพร้อมเยาวชนสู่การเป็นผู้ประกอบการOTOP รุ่นใหม่ที่มีคุณภาพ

นอกจากนี้ คุณณัฐณิชายังได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด เช่น   แชมพูส้มควาย สครับส้มควายขัดผิว สบู่ส้มความผสมน้ำผึ้ง น้ำสมุนไพรส้มควายผสมน้ำผึ้งเข้มข้น ฯลฯ  ช่วยสร้างเงิน สร้างงานและรายได้เข้าสู่ชุมชนได้อย่างยั่งยืน

รู้จัก “ ต้นส้มควาย ” 

ต้นส้มควาย เป็นพืชที่อยู่ในวงศ์ Clusiaceae กระจายพันธุ์ในประเทศอินเดียจนถึงแหลมมลายูและประเทศไทย  ส้มควายมีชื่อเรียกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น  เช่น  ภาคใต้ทั่วไป เรียกว่า มะขามแขก หรือ ส้มแขก  ชาวปัตตานี เรียกพืชชนิดนี้ว่า ส้มพะงุน   ส่วนชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ตรัง  พังงา  ระนองและกระบี่  นิยมเรียก  “ ส้มควาย ” ชาวบ้านส่วนใหญ่นิยมนำส้มควายไปปรุงเพิ่มรสเปรี้ยวให้อาหาร

ต้นส้มควาย

ส้มควาย เป็น ไม้ยืนต้นทรงพุ่มกว้างสูงประมาณ 5-14 เมตร เป็นไม้เนื้อแข็ง หากเป็นต้นอ่อนจะมีสีเขียว หากแก่แล้วจะมีสีน้ำตาลอมดำ มียางสีเหลือง ลักษณะของใบ เป็นใบเดี่ยวออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ใบใหญ่มีผิวเรียบเป็นมัน ใบอ่อนมีสีน้ำตาลอมแดง ขอบใบเรียบ ปลายใบแหลม ยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร กว้างประมาณ 4-5 เซนติเมตร

ส้มควาย จะออกดอกตามปลายยอด ดอกเพศผู้ มีกลีบเลี้ยง 4 กลีบ ด้านในสีแดง ด้านนอกมีสีเขียวมีเกสรเพศผู้ เรียงอยู่บนฐานรองดอก ส่วนดอกเพศเมียเป็นดอกเดี่ยวแทงออกจากปลายกิ่ง มีขนาดเล็กกว่า ดอกเพศผู้ รังไข่มีรูปทรงกระบอก จะออกผลเป็นผลเดี่ยว ผิวเรียบสีเขียว เมื่อแก่จัดจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองแก่ เปลือกผลเป็นร่องตรมแนวขั้วไปยังปลายผล มีประมาณ 8-10 ร่อง ที่ขั้วมีกลีบเลี้ยงติดอยู่ 2 ชั้นๆละ 4 กลีบ เนื้อแข็งมีรสเปรี้ยวจัด ในผลมีเมล็ดแข็ง 2-3 เมล็ด

ผลส้มควาย

ผลส้มควาย มีสารสำคัญ ชื่อว่า Hydroxycitric Acid หรือเรียกสั้นๆว่า “HCA”  ที่มีคุณสมบัติช่วยยับยั้งเอนไซม์ในกระบวนการสร้างไขมันจากการบริโภคอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตนอกจากนี้ยังมีกรดอินทรีย์อื่นๆ อีกด้วยไม่ว่าจะเป็น กรดซิตริก (Citric Acid) กรดโดคีคาโนอิค (Dodecanoic Acid) กรดออคตาดีคาโนอิค (Octadecanoic acid) และ กรดเพนตาดีคาโนอิค (Pentadecanoic acid) เนื่องจาก ผลิตภัณฑ์สารสกัดส้มควาย มีปริมาณ HCA ที่สูง ไม่ควรใช้กับสตรีตั้งครรภ์ หรือสตรีให้นมบุตร และ บุคคลทั่วไปไม่ควรรับประทานส้มควายในปริมาณมากเกินไปเพราะอาจมีผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหารได้

การปลูกส้มควายในจังหวัดภูเก็ต

ส้มควาย เป็นพืชพื้นเมืองของภูเก็ต พบมากตามป่าธรรมชาติทั่วไป และปลูกในบ้านเรือนประชาชนโดยปลูกร่วมกับไม้ผลอื่นๆ ้  เนื่องจากภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวที่เติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้พื้นที่เมืองขยายสู่พื้นที่ภาคการเกษตร ทำให้มีการโค่นต้นส้มควายเป็นจำนวนมาก ทำให้ พื้นที่ปลูกส้มควายของจังหวัดภูเก็ตเข้าสู่ภาวะวิกฤต  ช่วงปี 2558  คุณนิสิต จันทร์สมวงศ์ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตในขณะนั้น จึงมีนโยบายอนุรักษ์ส้มควายให้อยู่คู่ป่าตามธรรมชาติ และหนุนต่อยอดภูมิปัญญา “ส้มควาย” พืชพื้นเมืองเป็นสินค้า OTOP เด่นของจังหวัดภูเก็ต

เนื้อส้มควายถูกหั่นตากแห้งก่อนนำไปแปรรูป
ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากส้มควาย

ทางจังหวัดภูเก็ต ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง  ส่งเสริมการปลูกเพิ่ม ส้มควายในจังหวัดภูเก็ตมากขึ้น เพื่อนำมาแปรรูปเป็นอาหารพื้นบ้านและเป็นวัตถุดิบสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องเวชสำอาง รวมทั้งสร้างเครือข่ายองค์ความรู้ OTOP (Knowlege Based OTOP : KBO) เพื่อส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกส้มควายเป็นพืชเศรษฐกิจสร้างงาน สร้างอาชีพ เพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้ในชุมชน พึ่งพาตนเองตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้ ปัจจุบีนชุมชนบ้านสาคู หมู่ที่ 3 ต.สาคู อ.ถลาง และบ้านบางหวาน หมู่ที่ 1 ต.กมลา อ.กะทู้  นับเป็นแหล่งปลูกส้มควายที่สำคัญของจังหวัดภูเก็ต

.........................................................................
ข่าวเกษตรและสหกรณ์ทั่วไทย จาก สนง.กษ.ปน. ออนไลน์
ที่มา : เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ : www.moac.go.th
.......................................................................

ตกลง