ราชาสมุนไพร “เห็ดหลินจือแดง” ณ อารีย์ฟาร์มเห็ดไทรโยค ที่เป็นมากกว่าฟาร์มเห็ดกับเกษตรผสมผสาน
6 พ.ค. 2565
548
0
ราชาสมุนไพร “เห็ดหลินจือแดง” ณ อารีย์ฟาร์มเห็ดไทรโยค ที่เป็นมากกว่าฟาร์มเห็ดกับเกษตรผสมผสาน

ราชาสมุนไพร “เห็ดหลินจือแดง” ณ อารีย์ฟาร์มเห็ดไทรโยค ที่เป็นมากกว่าฟาร์มเห็ดกับเกษตรผสมผสาน

Facebook
Twitter
Google+
LINE

สวัสดีค่ะท่านผู้อ่านที่รัก บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งจากการเรียนในรายวิชาส่งเสริมการเกษตร สาขา วิทยาศาสตร์การเกษตร มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ในความดูแลของ อาจารย์ธนากร เที่ยงน้อย ในบทเรียนการเขียนบทความเพื่อเผยแพร่ข้อมูลด้านการเกษตร

อาจารย์ให้พวกเราลงพื้นที่สัมภาษณ์และพูดคุยแนวคิดการทำการเกษตรกับเกษตรกร เพื่อให้พวกเราได้สัมผัสกับชีวิตเกษตรกรและได้ทดลองเป็นนักข่าวไปพร้อมๆ กัน แล้วจึงนำข้อมูลมาเขียนเป็นบทความส่งเพื่อให้อาจารย์พิจารณา กลุ่มของเราได้เริ่มสืบเสาะข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตจนได้พบกับการเพาะปลูกเห็ดที่สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในเวลาอันสั้น ตามพวกเราไปดูฟาร์มเห็ดที่เป็นมากกว่าฟาร์มเห็ดกันค่ะ

 เห็ดหลินจือ ราชาแห่งสมุนไพร

“เห็ด” พืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายไปทั่วโลก แม้เห็ดจะหารับประทานง่าย และมีให้เลือกสรรมากมาย แต่ท่านผู้อ่านทราบหรือไม่คะว่า กว่าจะมาเป็นดอกเห็ดให้เราได้รับประทานอย่างทุกวันนี้ ต้องระวังทั้งโรคและความสะอาดในกระบวนการผลิต อีกทั้งต้องอาศัยความสม่ำเสมอในการเอาใจใส่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการเพาะเลี้ยงสุดยอดแห่งเห็ดสมุนไพรที่มีสรรพคุณมากมาย ที่ใครๆ ต่างยกตำแหน่งนี้ให้กับ “เห็ดหลินจือ” ราชาแห่งสมุนไพรที่ใครๆ ต่างก็ต้องการ ไม่รอช้าพวกเราจะพาทุกท่านไปพบกับ คุณสหรัช รักษา ผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะเห็ดประสบการณ์มากกว่า 20 ปี เจ้าของอารีย์ฟาร์มเห็ดไทรโยค ตำบลท่าเสา อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี

คุณสหรัช รักษา และผลิตภัณฑ์จากเห็ดหลินจือ

จุดเริ่มต้นและการทำเกษตรของฟาร์มเห็ด

คุณสหรัช เล่าว่า “เริ่มที่พ่อแม่ของผมเป็นเกษตรกรมาตั้งแต่ต้น ท่านได้เพาะปลูกเห็ดหลากหลายชนิด เช่น เห็ดเป๋าฮื้อ เห็ดนางฟ้า เห็ดภูฏาน เห็ดหลินจือ ซึ่งแรกๆ ก็ทำรับประทานเองกันในครัวเรือนด้วยความที่เราเป็นโรคภูมิแพ้ แล้วมันมีสรรพคุณทางยาที่ดี ต่อมาเมื่อคนอื่นเห็นว่ารับประทานแล้วให้ผลลัพธ์ที่ดีจึงมีผู้สนใจมาซื้อกันเป็นจำนวนมาก เราก็เห็นว่าการเพาะเห็ดน่าจะเป็นช่องทางสร้างอาชีพได้ จึงเริ่มปลูกขายอย่างจริงจังในระบบโรงเรือน เนื่องจากเห็นว่าเห็ดมีช่องทางการค้าที่ตลาด แต่เราก็ทำการเกษตรอยู่แล้ว จึงทำทั้งเห็ดและเกษตรผสมผสานคู่กันไป

แปลงมันสำปะหลัง

ผมปลูกดีปลี มันสำปะหลัง น้อยหน่า มะขาม ซึ่งจะทำให้เก็บผลผลิตได้เรื่อยๆ สลับกันไปตามฤดูกาล เราได้ทำเกษตรผสมผสานนี้มานานกว่า 20 ปี เพราะการทำเกษตรขึ้นอยู่กับจังหวะในขณะนั้น หากเราควบคุมมันไม่ได้ก็จะเจอปัญหาเกิดขึ้นตลอดเวลา ดังนั้น การทำเกษตรในโรงเรือนที่มีการคุมปัจจัยต่างๆ จึงสามารถกำหนดผลลัพธ์ที่ได้ง่ายกว่าและเกิดปัญหาได้น้อย การทำเกษตรผสมผสานที่มีทั้งธรรมชาติและการควบคุมของพืชชนิดต่างๆ ที่ปลูก ทำให้เรามีรายได้มีผลผลิตตลอดปีที่สามารถวนเก็บผลผลิตสลับกันไป

ดีปลีก็มีปลูก

เห็ดหลินจือแดงและแปรรูปผลผลิต

คุณสหรัช เล่าว่า ที่เลือกเพาะเห็ดหลินจือแดง เพราะจากการศึกษาพบว่า เห็ดหลินจือแดงเป็นพันธุ์ที่มีรายงานการวิจัยออกมาว่าเป็นพันธุ์ที่มีคุณค่าทางอาหารสูง มีประโยชน์มากกว่าเห็ดสายพันธุ์อื่นๆ โดยเฉพาะสรรพคุณทางยาที่มากกว่าและเป็นที่ต้องการของตลาด

ด้านการแปรรูปทางฟาร์มได้นำเอาเห็ดหลินจือแดงมาทำผลิตภัณฑ์ไว้หลายอย่าง ทั้งทำเป็นตัวชาเห็ด เห็ดอบแห้ง แคปซูลเห็ด และเซรั่มจากเห็ดหลินจือแดง ซึ่งสามารถเก็บไว้ได้นาน ในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ก็ทำเองพร้อมส่งตรวจความปลอดภัยและขอ อย. อย่างถูกต้อง อย่างเช่น

ตัวเซรั่มทำร่วมกับมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ ความถูกต้อง ชัดเจน ส่วนการขายเน้นขายออนไลน์ มีส่งขายตามร้านของฝากในจังหวัดกาญจนบุรีและได้ทาง ธ.ก.ส. ช่วยประชาสัมพันธ์ ออกบู๊ธตามที่ต่างๆ ซึ่งในช่วงเกิดโควิด-19 คนอยู่บ้านกันมากขึ้นก็สั่งก้อนเชื้อเห็ดไปเลี้ยงเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเห็ดหลินจือซึ่งเป็นเห็ดสมุนไพร 1 ใน 8 ที่ต้านไวรัส

ก้อนเห็ดในฟาร์ม

วิธีการเพาะเห็ดหลินจือ

ระยะเวลาที่เหมาะสมในการเก็บเกี่ยว

คุณสหรัช บอกต่ออีกว่า “วิธีในการเพาะเห็ดหลินจือสามารถเพาะได้เหมือนกรรมวิธีการเพาะก้อนเห็ดทั่วไป คือจากขี้เลื่อย ยางพารา จากวัสดุเพาะที่มีส่วนประกอบพวกรำ แป้ง และอาหารเห็ดเป็นหลัก จากนั้นหยอดเชื้อเห็ดเข้าไปรอจนกว่าเส้นใยเดินเต็มก้อน ใช้เวลาประมาณเดือนกว่าๆ เชื้อที่เดินเต็มแล้วเราถึงจะนำเข้าโรงเรือนและเปิดดอก หลังเปิดดอกแล้วประมาณ 70-80 วันถึงจะเก็บดอกได้ ซึ่งเห็ดหลินจือจะใช้เวลาปลูกเลี้ยงยาวนานกว่าเห็ดชนิดอื่น เพราะเห็ดมีการเติบโตช้า มีการสะสมอาหารเป็นจำนวนมาก จึงอุดมไปด้วยสารอาหารที่ทำให้เห็ดหลินจือได้รับการยอมรับว่าเป็นสมุนไพรที่เป็นตัวยา สิ่งที่ควรจะต้องระมัดระวังในการเพาะเห็ดหลินจือแดงคือ ตัวแมลงที่จะเข้ามากัดกินดอก ดังนั้น ทางที่ดีเราจึงต้องกางมุ้งเพื่อให้ปลอดจากแมลงศัตรูพืชและปลอดจากการใช้สารเคมีทุกชนิด จากประสบการณ์ที่ผ่านมาหากไม่กางมุ้งลักษณะภายนอกของเห็ดบางดอกดี สวยงาม แต่โดนแมลงกัดกินข้างในกลวงจนเกิดความเสียหายก็ต้องทิ้งไป สำหรับการเพาะเห็ดหลินจือ 1 ครั้ง สามารถเก็บดอกได้ไม่เกิน 2 ครั้ง โดยหลังจากเก็บดอกครั้งแรกไปแล้วครั้งที่สองจะออกดอกใหม่หลังจากเก็บเกี่ยวไปแล้ว 15 วัน แต่ดอกจะเล็กมากแทบใช้ไม่ได้”

ดอกเห็ด

ถึงคนที่สนใจการเพาะเห็ด

หรือกำลังจะเริ่มทำการเกษตร

 
 
 

เด่นวันนี้

 
 
 
 
 
 
 
0:19/0:40
 
 

การเพาะเห็ดทุกคนมีสิทธิ์คิดได้หมด แต่การลงมือทำอาจยากสักหน่อย ต้องเริ่มดูจากตัวเราว่าพร้อมที่จะทำอาชีพนี้หรือเปล่า ดูว่าพื้นที่ที่เราอาศัยอยู่มีสภาพอากาศเหมาะกับการเพาะปลูกเห็ดชนิดใด เหมาะกับวิธีการปลูกเลี้ยงเห็ดแบบไหน ซึ่งการเพาะเห็ดก็เป็นอาชีพที่ไม่ลำบาก แต่ก็ไม่ได้ง่ายเกินไป เพราะมีการใช้พื้นที่น้อย ใช้น้ำน้อย ให้ผลผลิตเร็ว หากเรามีประสบการณ์แล้วเราจะรู้ว่าควรจะทำอย่างไรกับเห็ดต่อไปหรือเกิดปัญหาอะไรที่เราควรจะหยุดเพาะเลี้ยงเห็ดได้

ข้อดีของการเพาะปลูกเห็ดอีกอย่างคือ เราสามารถทำเงินได้ในระยะเวลาอันสั้น ส่วนการตลาดก็ต้องดูว่าส่งที่ไหนมีแหล่งรับซื้อไหม ซึ่งทางฟาร์มเองจะเน้นส่งขายในพื้นที่ใกล้เคียง แม้ได้กำไรไม่เยอะมากเท่าส่งในกรุงเทพฯ แต่หักลบแล้วก็ไม่ลำบากและมีความสุขกว่า และนอกจากนั้น เรายังได้ขายก้อนเชื้อเห็ดให้ชุมชนข้างเคียงไปเพาะ ซึ่งเราจะไม่ทำเยอะเพื่อให้ชาวบ้านคนอื่นได้ทำด้วย เป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

คณะนักศึกษา ถ่ายภาพร่วมกับคุณสหรัช ที่หน้าฟาร์มเห็ด

สุดท้ายนี้คุณสหรัช ฝากไว้ว่า “การทำเกษตรอย่าทำเพียงทางเดียว อย่าหวังรวยจากพืชชนิดเดียว ต้องมีทางเลือกอื่น มีพืชชนิดอื่นๆ เผื่อไว้ด้วย หากวันนี้เราไม่ได้เห็ดก็ยังมีพืชอื่นๆ ในฟาร์มให้ผลผลิต ควรทำแบบผสมผสานให้เกิดความหลากหลายครบวงจร อย่าไปทำพืชเชิงเดี่ยว”

หากใครสนใจอยากเรียนรู้วิธีการเพาะเห็ด หรือสนใจผลิตภัณฑ์เห็ดหลินจือ ก้อนเชื้อเห็ดและดอกเห็ด ติดต่อได้ที่เบอร์โทร. (089) 808-5142 (คุณสหรัช รักษา) ตำบลท่าเสา อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี

พวกเราขอจบรายงานข่าวจากพื้นที่กาญจนบุรีไปก่อนนะคะ จนกว่าจะได้พบกันใหม่ สวัสดีค่ะ

…………………………..

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 เมษายน พ.ศ.2564

ตกลง