ระวัง ไรกระเทียม ในกระเทียม
14 ก.ย. 2565
62
0
ระวัง ไรกระเทียม ในกระเทียม
ระวัง ไรกระเทียม ในกระเทียม
ระวัง ไรกระเทียม ในกระเทียม
ระวัง ไรกระเทียม ในกระเทียม
สภาพอากาศในช่วงนี้มีฝนตกกระจายทุกพื้นที่และตกหนักบางพื้นที่ เตือนผู้ปลูกกระเทียม ในระยะ ระยะต้นกล้า-ปลูกลงดิน ระยะหลังเก็บเกี่ยว รับมือไรกระเทียม เข้าทำลายกระเทียมทั้งระยะที่เจริญเป็นต้นอยู่ในไร่ และระยะหลังเก็บเกี่ยว ต้นกระเทียมที่ถูกไรเข้าทำลายจะไม่สมบูรณ์ ใบจะมีอาการด่างสีขาวและเหลืองเกิดขึ้นเป็นหย่อมๆ โดยเฉพาะบริเวณขอบใบ ใบจะพับเข้าหากันตามแนวเส้นกลางใบ ปลายใบม้วนงอพันกันไม่ตั้งตรง ชาวบ้านมักเรียกลักษณะของใบที่ม้วนพันกันนี้ว่า
"ใบบ่วง” อาการด่างชาวของใบจะสังเกตเห็นได้ชัดเจน ต่างกับลักษณะอาการประสีขาวจางๆ ซึ่งเกิดจากการทำลายของเพลี้ยไฟ และจะพบมากบนใบอ่อนที่แตกใหม่ บางครั้งใบอ่อนที่เพิ่งเริ่มโผล่ออกมาจะมีอาการด่างขาว และบิดเป็นลูกคลื่น ไม่ยืดออกจากกาบใบ ต้นกระเทียมที่ถูกไรทำลายอย่างรุนแรงตั้งแต่เล็กอาจตายหมดทั้งแปลงได้ สำหรับกรtเทียมที่ถูกไรทำลายในระยะเริ่มลงหัว จะทำให้หัวกระเทียมเล็กลง ถ้าการทำลายเกิดขึ้นในระยะใกล้เก็บเกี่ยว อาจไม่มีผลต่อผลผลิตมากนัก เมื่อกระเทียมที่เก็บเกี่ยวจากไร่ ถูกนำมาแขวนหรือผึ่งลม ไรจะเคลื่อนย้ายจากใบลงมายังกาบใบ และดูดทำลายอยู่ที่หัวกระเทียม โดยเฉพาะบริเวณกลีบที่อยู่ด้านในของหัวและลุกลามต่อไปยังกลีบที่อยู่ใกล้เคียง การทำลายเกิดขึ้นตลอดระยะเวลาที่กระเทียมถูกเก็บไว้เพื่อบริโภคหรือทำพันธุ์ กลีบของกระเทียมที่ถูกทำลายจะมีอาการแห้ง ผิวของกลีบเหี่ยวย่น และเริ่มเปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีเหลือง และสีน้ำตาลเข้ม กระเทียมจะแห้งแข็ง และค่อยๆ ฝ่อไป เมื่ออาหารบนกลีบกระเทียมที่ไรดูดกินหมดไป ไรจะเคลื่อนย้ายไปทำลายกลีบที่อยู่ใกล้เคียงต่อไป
แนวทางป้องกัน/แก้ไข
๑. ควรคัดเลือกหัวพันธุ์ที่สมบูรณ์ จากแหล่งที่ไม่มีการระบาดทำลายของไรกระเทียมมาก่อน การเก็บเกี่ยวควรแยกกระเทียมที่จะใช้ทำพันธุ์ไว้ต่างหากไม่รวมกับกระเทียมส่วนอื่นๆ
๒. กำจัดวัชพืชในนาและบนคันนาก่อนเตรียมดินปลูก ทั้งนี้เพื่อเป็นการทำลายแหล่งซึ่งไรอาจจะใช้เป็นที่อาศัยนอกฤดูปลูกกระเทียม
๓. เริ่มสำรวจต้นกระเทียมเมื่ออายุประมาณ ๓ สัปดาห์หลังงอก ถ้าพบอาการใบม้วนงอและขอบใบเป็นสีเหลืองมากกว่า ๒๕% ให้พ่นสารฆ่าไร และสำรวจต่อไปทุก ๑๔ วัน ถ้าพบอาการดังกล่าวให้พ่นซ้ำ และควรผสมสารจับใบ สารฆ่าไรที่ใช้ได้ผลดีในการป้องกันกำจัดไรชนิดนี้ คือ อะมิทราซ ๒๐% อีซี อัตรา ๔๐ มิลลิลิตรต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือ กำมะถัน ๘๐% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา ๕๕-๗๐ กรัมต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือ ไตรอะโซฟอส ๔๐% อีซี อัตรา ๓๐ มิลลิลิตรต่อน้ำ ๒๐ ลิตร
๔. เพื่อเป็นการป้องกันมิให้เกิดความเสียหายกับกระเทียมในขณะเก็บรักษาไว้ เพื่อบริโภค ทำพันธุ์ หรือรอการรับซื้อจากพ่อค้าคนกลาง ควรทำการรมกระเทียมที่เก็บเกี่ยวมาแล้วด้วย อลูมิเนียมฟอสไฟด์ หรือฟอสฟีน ในอัตรา ๑ เม็ดต่อเนื้อที่ ๑ ลูกบาศก์เมตร โดยนำกระเทียมที่เก็บเกี่ยวแล้วมาแขวนผึ่งหัวกระเทียมให้แห้งเสียก่อน แล้วจึงรมกระเทียมใต้ผ้าพลาสติกในที่โล่งแจ้ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก รมทิ้งไว้เป็นเวลา ๕ วัน ในกรณีของกระเทียมที่ใช้ทำพันธุ์ ควรรมซ้ำอีก ๑ ครั้ง ก่อนนำไปปลูก โดยใช้อัตราและระยะเวลาในการรมเช่นเดียวกับครั้งแรก
*** หมายเหตุ อลูมิเนียมฟอสไฟด์ หรือฟอสฟีน เป็นสารพิษอันตราย หลีกเลี่ยงการสูดก๊าซพิษในขณะปฏิบัติงาน โดยเฉพาะขณะเปิดผ้าพลาสติกหลังการรมแต่ละครั้ง
ตกลง