นายพีรพันธ์ คอทอง ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมตรวจติดตามการปฏิบัติราชการของส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามแผนการตรวจราชการ และการขับเคลื่อนแบบบูรณาการในระดับพื้นที่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 รอบที่ 2 จังหวัดนครพนม
27 ก.ค. 2565
65
0
นายพีรพันธ์คอทองผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายพีรพันธ์ คอทอง ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมตรวจติดตามการปฏิบัติราชการของส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามแผนการตรวจราชการ และการขับเคลื่อนแบบบูรณาการในระดับพื้นที่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 รอบที่ 2 จังหวัดนครพนม

วันพุธที่ 27 กรกฎาคม​ 2565 เวลา 09.00 น.

       นายพีรพันธ์ คอทอง ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมตรวจติดตามการปฏิบัติราชการของส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามแผนการตรวจราชการ และการขับเคลื่อนแบบบูรณาการในระดับพื้นที่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 รอบที่ 2 จังหวัดนครพนม พร้อมด้วย เกษตรและสหกรณ์จังหวัด ผู้ช่วยผู้ตรวจราชการ หัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนหน่วยงาน และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสำนักงานเกษตรและสหกรณ์​จังหวัด​นครพนม​ และผ่านระบบการประชุมทางไกลแบบออนไลน์ (Application Zoom) 

       ในการนี้ หน่วยงานได้ร่วมนำเสนอข้อมูลรายงานความก้าวหน้า ผลการขับเคลื่อนการดำเนินงานในสินค้าเกษตรที่สำคัญ จากข้อค้นพบ ปัญหา/ความท้าทาย และข้อเสนอแนวทางการแก้ไข/พัฒนา ตามผลการตรวจราชการและการขับเคลื่อนแบบบูรณาการในระดับพื้นที่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 รอบที่ 1 และได้ร่วมหารือแลกเปลี่ยนแนวทางการขับเคลื่อนพัฒนาสินค้าเกษตรที่สำคัญของจังหวัด (ข้าว และปลานิล (ในกระชัง)​) ตามนโยบายที่สำคัญของกระทรวง

       ข้อค้นพบ และปัญหาอุปสรรค ดังนี้

       1. ด้านการบริหารจัดการ​ข้อมูลด้านการเกษตร พบปัญหาในการบูรณาการ​และการบริหารจัดการข้อมูล​ ข้อมูล​มีขนาดใหญ่​ หลากหลาย ซ้ำซ้อน ไม่ถูกต้องสมบูรณ์​ บางหน่วยไม่เปิดเผยข้อมูล​ เจ้าหน้าที่​มีความรู้​ในการใช้งานโปรแกรม​ต่าง ๆ ในระดับพื้นฐาน​ ไม่มีความเชี่ยวชาญ​ในการทำระบบฐานข้อมูล​ขนาดใหญ่​ 

       2. ด้านการบริหารจัดการประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรน้ำ พบว่าการวิเคราะห์ประสิทธิภาพ, การสร้างและถ่ายทอดองค์ความรู้ว่าด้วยเทคโนโลยีการใช้ทรัพยากรน้ำยังมีน้อยกว่าที่ควรจะเป็น รวมทั้งความคาดหวังและความขัดแย้งของกลุ่มผู้ใช้น้ำจะเพิ่มขึ้นเมื่อปัญหาข้อจำกัดของทรัพยากรน้ำ และความต้องการน้ำที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งมีกระแสนิยมแสวงหาแหล่งน้ำด้วยการลงทุนบ่อบาดาลพลังงานแสงอาทิตย์ที่ไม่คำนึงถึงระดับน้ำใต้ดินซึ่งจะส่งผลต่อการลงทุนและผลตอบแทนที่เหมาะสม

       3. ด้านกิจกรรมการอบรมให้ความรู้ของส่วนราชการ ซึ่งเกือบทุกหน่วยงานได้รับงบประมาณเพื่อขับเคลื่อนแผนงานสำคัญ เช่น แปลงใหญ่ ศพก. Smart Farmer การเพิ่มศักยภาพสถาบันเกษตรกร (สหกรณ์/กลุ่ม/วิสาหกิจชุมชน) ได้มีผลการดำเนินงานบรรลุเป้าหมายเชิงปริมาณ (จำนวนเกษตร) แต่การบรรลุเป้าหมายเชิงคุณภาพ (ความตระหนัก ความเข้าใจ และการลงมือปฏิบัติ) ควรมีการประเมินผล ผ่านการสำรวจเก็บข้อมูลต่อไป ซึ่งจากการวิเคราะห์ข้อมูลยังพบว่า การยกระดับประสิทธิภาพการผลิต การปรับเพิ่มผลิตภาพการผลิต และการสร้างทักษะ Digital literacy เพื่อพัฒนากระบวนการผลิต หรือระบบงานในฟาร์มให้มีความทันสมัยและมีประสิทธิภาพ นั้น ยังไม่ได้รับการยอมรับอย่างที่ควรจะเป็น (Adoption Technology) อันสะท้อนจาก ศักยภาพของเกษตรกร (สูงอายุ และระดับความมีอิสระทางการเงิน) ความสมบูรณ์ของแผนพัฒนาการผลิตส่วนบุคคล (IFPP) ที่เกษตรกรจะต้องจัดทำหลังจากอบรม (ซึ่งพบว่าเกษตรกรไม่มีความเข้าใจในการจัดทำข้อมูล IFPP, แบบฟอร์มมีความซับซ้อน, ​การจัดทำข้อมูล​ต้องมาจากขั้นตอน​กิจกรรม​เฉพาะ​บุคคล​ซึ่งต้อง​ใช้​ความเข้าใจ​ในการ​ดำเนิน​กิจกรรม​เกษตร​ของ​ตนเอง)​ รวมถึง หลักสูตรว่าด้วยการวิเคราะห์ความเสี่ยงทางการเงิน และบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบในการกำกับดูแลองค์กรที่ดีของคณะกรรมการสถาบันเกษตรกร นั้น พบว่ายังไม่ได้มีการจัดการให้มีการอบรมอย่างเข้มข้น ซึ่งสะท้อนจากอัตราส่วนทางการเงินของสถาบันเกษตรกรที่ยังมีความเสี่ยงในระดับปานกลางถึงระดับสูง และยังคงพบปัญหาว่าคณะกรรมการดำเนินการ ยังไม่เข้าใจ​บทบาท​หน้าที่​ความรับผิดชอบ​เท่าที่ควร เนื่องจากความไม่ต่อเนื่อง​ของการบริหารงานมีการหมุนเวียนตามวาระการดำรงตำแหน่ง​ รวมถึง ระบบการปฏิบัติ​งาน​ของแต่ละฝ่าย​ยังขาดการเชื่อมโยง​ข้อมูล​ที่​เป็น​ปัจจุบัน​

       4. ปัญหาด้านการบริหารวิชาการ (วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รวมถึงการจัดการความเสี่ยงทางการเงิน) พบว่า ยังไม่มีพื้นที่การทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานด้านวิจัย และหน่วยงานด้านส่งเสริมอาชีพ โดยเฉพาะประเด็นการวิเคราะห์การด้อยประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ รวมถึง การนำเสนอเทคโนโลยีที่จะสามารถลดค่าด้อยประสิทธิภาพของระบบการผลิต อีกทั้ง แต่ละหน่วยงานวิจัยยังมีการศึกษาวิจัยเฉพาะด้าน ดังนั้น การบริหารจัดการเพื่อสร้างองค์ความรู้แบบองค์รวม ยังจะต้องสร้างกลไกและพื้นที่การทำงานร่วมกันที่มีประสิทธิภาพมากกว่าที่เป็นในปัจจุบัน

      5. ปัญหาการบริหารความเสี่ยงตามผลประเมินความเสี่ยงตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง (พันธุ์, โรค, ความปลอดภัยอาหาร, การจำหน่าย การใช้สารเคมีทางการเกษตร) พบว่าหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพหลักการติดตามเฝ้าระวังความเสี่ยง ยังไม่รายงาน/แบ่งปันข้อมูลความเสี่ยงและวิเคราะห์วิธีการลดความเสี่ยงร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง (หน่วยสนับสนุน) อาจเนื่องจากไม่มีกระบวนการทำงานร่วมกันที่ชัดเจน เช่น ข้อมูลสภาวะโรค สภาวะการปนเปื้อนด้านอาหาร สภาวะมาตรฐานคุณภาพปัจจัยการผลิต (น้ำ พันธุ์ ปุ๋ย สารเคมีเกษตร) เป็นต้น รวมทั้งยังมุ่งเน้นการเฝ้าระวังสอบทานฟาร์มและสินค้าที่อยู่ในระบบการรับรองมาตรฐานเป็นสำคัญ หรือกล่าวอีกนัยว่า การเฝ้าระวังเชิงรุกด้านความปลอดภัยอาหารที่มีการสุ่มตัวอย่างของสินค้าที่ผลิตได้ทั้งหมดยังไม่สอดคล้องกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น 

     ทั้งนี้ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีข้อเสนอแนะในภาพรวมของการประชุมฯ ดังนี้

      1. ควรพัฒนากิจกรรมการฝึกอบรมเกษตร ให้สามารถสร้างทักษะความสามารถที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ (Ability to Learn New Things) ทั้งในระดับเจ้าหน้าที่และเกษตรกร โดยมุ่งเน้น องค์ความรู้ ด้านการลงทุนและผลตอบแทน ด้านพลังงาน ทรัพยากรดิน น้ำ, ด้านการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลและเทคโนโลยีชีวภาพ, ด้านอาหาร, ด้าน Climate change, ด้าน Recession Economy (เงินเฟ้อ/อัตราแลกเปลี่ยน), ด้านตลาดประเทศเกิดใหม่ และภูมิรัฐศาสตร์แบบสองขั้ว เป็นต้น นอกจากนั้น ควรมีการประเมินคัดกรองคุณสมบัติ/ศักยภาพของเกษตรกรเป้าหมายที่มีความพร้อมด้านการยอมรับเทคโนโลยี และระดับความมีอิสระทางการเงิน เพื่อเข้ารับการอบรมถ่ายทอดความรู้มีความคุ้มค่าเชิงผลิตภาพเพิ่มขึ้น รวมทั้งให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของคณะกรรมการบริหารสถาบันเกษตรกรเป็นลำดับแรก

       2. ควรมีการประเมินความเสี่ยงเป็นระยะ (ความเสี่ยงด้านภัยพิบัติ, โรคระบาด, Food Safety, สถาบันเกษตรกร (การเงิน/เศรษฐกิจ)) เพื่อการจัดการความเสี่ยงให้ลดลง โดยการจัดเก็บข้อมูล และมีการวิเคราะห์ข้อมูลแบบต่าง ๆ ทั้งในการวิเคราะห์ข้อมูลแบบพื้นฐาน (Descriptive Analytic) การวิเคราะห์แบบพยากรณ์ (Predictive Analytic) และการวิเคราะห์แบบให้คำแนะนำ (Prescriptive Analytic) ที่ซึ่งควรมีการแบ่งปันสื่อสารข้อมูลความเสี่ยงร่วมกันในระดับจังหวัด โดยใช้กลไก SCP และ อพก. เพื่อให้เกิดการสื่อสารความตระหนัก ความเข้าถึงผลกระทบและวิธีการบรรเทาผลกระทบ ให้เกษตรกร อันเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภค ภาคประชาชนที่มีบทบาทและพลังมากขึ้น

       3. กำหนดพื้นที่ (Area) แปลงใหญ่ หรือ ศพก. หรือ SF/YSF เพื่อการสอบทาน/ทดสอบ/ประเมินกระบวนการตามข้อแนะนำของผู้ตรวจราชการฯ ประกอบด้วย 

              3.1 พัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมและสร้างทักษะใหม่ให้แก่เกษตรกร เช่น วิชาว่าด้วย Learning How to Learn, การปรับตัวและบรรเทาผลกระทบจาก Climate Change, เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต, วิเคราะห์การลงทุนและผลตอบแทน, การเงินและความเสี่ยงทางการเงิน เป็นต้น โดยการศึกษาวิเคราะห์ Potential Yield ของสินค้า เพื่อหาความต้องการความรู้หรือเติมเต็มช่องว่างของความรู้ที่เหมาะสมกับความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

              3.2 กำหนดพื้นที่การทำงานร่วมกัน (Collaboration Areas) ในระหว่าง ส่วนภูมิภาค ส่วนกลาง สถาบันการศึกษา (AIC) ภาคเอกชน เพื่อประเมินความเสี่ยงที่เกี่ยวกับการผลิตและแสวงหาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการจัดการความเสี่ยงร่วมกัน

               อย่างไรก็ตามมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ที่ซึ่งส่วนราชการระดับกรม ควรปรับปรุงพัฒนาแผนปฎิบัติการและกระบวนการทำงาน กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับอบรมถ่ายทอดความรู้ กิจกรรมเฝ้าระวังความเสี่ยงตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง (การผลิต ครอบครอง จำหน่ายปัจจัยการผลิต (พันธ์ุ สารเคมีทางการเกษตร ปุ๋ย ยาและเวชภัณฑ์ เครื่องจักรกลเกษตร) เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตัวชี้วัดเชิงคุณภาพ (ผลิตภาพที่เพิ่มขึ้น รายได้ (กำไรสุทธิ) มาตรฐานของสถาบันเกษตรกร มูลค่า (กำไรสุทธิ) ที่เพิ่มขึ้นของฟาร์มที่ส่งเสริมเทคโนโลยีอัจฉริยะ) และความเสียหาย (ความสูญเสีย สูญเปล่า) ในกระบวนการผลิตที่ลดลงโดยเปรียบเทียบ เช่น การพัฒนา Digital Content เพื่อปรับหลักสูตรการอบรมผ่าน Education Tech รวมถึง E Learning การพัฒนาข้อมูลสำคัญ เช่น ข้อมูลอากาศ ลม ความชื้น ดิน น้ำ ฯลฯ ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรใช้ประโยชน์จากข้อมูลนี้เพื่อแประกอบการตัดสินใจในการผลิต การลงทุนและผลตอบแทน รวมถึงการใช้ข้อมูลความเสี่ยงตามกฎหมายระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ส่วนราชการระดับจังหวัดได้ใช้ประโยชน์วิเคราะห์ สื่อสารความเสี่ยงและจัดการบรรเทาผลกระทบจากความเสี่ยงร่วมกัน

             โดยการประชุมครั้งนี้ เป็นการการประชุมตรวจราชการฯ ตามแผนการตรวจราชการและการและการขับเคลื่อนแบบบูรณาการในระดับพื้นที่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ซึ่งมุ่งเน้นการตรวจราชการเป็นรายสินค้าเกษตรที่สำคัญ ผ่านการผลักดันการขับเคลื่อนงานภายใต้นโยบายสำคัญของกระทรวง

x
  • รวมเว็บไซต์ทั้งหมด
  • ภาคเหนือ
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
  • ภาคกลาง
  • ภาคตะวันออก
  • ภาคใต้
สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ตกลง