ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าแนวทางการส่งเสริมการเกษตรที่เหมาะสม ตามฐานข้อมูลแผนที่เกษตรเชิงรุก (Agri – Map) ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตระหนักดีว่าการทำการเกษตรที่เหมาะสมกับที่ดิน จะเป็นแนวทางหนึ่งเพื่อนำไปสู่การลดต้นทุนการผลิต พร้อมทั้งเป็นการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ทั้งปริมาณและคุณภาพ และทำให้เกิดการใช้ปัจจัยการผลิตอย่างเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ จึงได้มอบหมายให้กรมพัฒนาที่ดินเป็นหน่วยงานหลักดำเนินการรวบรวมข้อมูล และจัดทำเอกสารแนวทางส่งเสริมการเกษตรที่เหมาะสมตามฐานข้อมูลแผนที่เกษตรเชิงรุก (Agri-Map) ของแต่ละจังหวัด โดยการสังเคราะห์ข้อมูลจากแผนที่เกษตรเชิงรุก หรือ Agri-Map Online เลือกพืชเศรษฐกิจหลักที่สำคัญ 4 ชนิดแรกที่มีพื้นที่ปลูกมาก เพื่อดูสถานภาพของพืชแต่ละชนิด เช่น ระดับความเหมาะสมของที่ดินของพืชแต่ละชนิด ซึ่งจำแนกเป็น 4 ระดับ ได้แก่ เหมาะสมสูง (S1) เหมาะสมปานกลาง (S2) เหมาะสมเล็กน้อย (S3) และไม่เหมาะสม (N) มีเนื้อที่และการกระจายตัวบริเวณใดของจังหวัด พื้นที่มีศักยภาพเหมาะสมสูงและปานกลางยังคงเหลืออีกเท่าไร หากประสงค์จะปลูกเพิ่มเติมควรปลูกบริเวณใด นอกจากนี้ยังพิจารณาถึงพื้นที่ชลประทานของแต่ละจังหวัด เพื่อใช้เป็นกรอบในการกำหนดแนวทางการส่งเสริมการเกษตรที่เหมาะสมในแต่ละจังหวัด
“แนวทางเพื่อส่งเสริมการเกษตรที่เหมาะสมของแต่ละจังหวัดสามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เช่น โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ โครงการเกษตรอินทรีย์ โครงการบริหารจัดการเขตเกษตรเศรษฐกิจสำหรับสินค้าเกษตรที่สำคัญ (Zoning by Agri-Map) โครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ โครงการ Smart Farmer เป็นต้น และยังเป็นข้อมูลกลางในการปฏิบัติงานร่วมกันของหน่วยงานต่าง ๆ ในจังหวัด ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกัน ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการประชาสัมพันธ์เรื่องฐานข้อมูลแผนที่เกษตรเชิงรุกให้กับเกษตรกรและผู้ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ได้รับรู้ และสามารถเข้าถึงได้ด้วยตนเอง โดยมอบหมายเครือข่ายหมอดินอาสา บุคลากรและอาสาจากส่วนราชการในสังกัดกระทรวงอื่น ๆ ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ช่วยทำการประชาสัมพันธ์ รวมถึงทำการประชาสัมพันธ์ข้อมูลด้านการเกษตรอื่น ๆ และได้เร่งรัดให้แก้ไขปัญหาราคาปุ๋ย ซึ่งส่งผลกระทบต่อเกษตรกรเป็นอย่างมาก โดยการพิจารณาสนับสนุนวิธีการลดการใช้ปุ๋ย หรือสนับสนุนแนวทางตามโครงการปุ๋ยสั่งตัดเพื่อให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยในปริมาณที่เหมาะสม หรือส่งเสริมการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ด้วย” ปลัดเกษตรฯ กล่าว
ปัจจุบัน กรมพัฒนาที่ดินได้ดำเนินการจัดทำแนวทางการส่งเสริมการเกษตรที่เหมาะสมตามฐานข้อมูลแผนที่เกษตรเชิงรุก (Agri-Map) 77 จังหวัด เสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วยรายละเอียดดังต่อไปนี้ 1) ข้อมูลทั่วไป ได้แก่ ลักษณะทั่วไปของจังหวัด เช่น การแบ่งเขตการปกครอง สภาพพื้นที่ ทรัพยากรดิน การใช้ที่ดิน ภูมิอากาศ การขึ้นทะเบียนเกษตรกร เป็นต้น 2) การวิเคราะห์พืชเศรษฐกิจหลักที่สำคัญ พิจารณาจากพืชที่มีพื้นที่ปลูกมากของจังหวัด 4 ลำดับแรกในพื้นที่เกษตรกรรมนอกเขตป่าไม้ตามกฎหมาย โดยพิจารณาระดับความเหมาะสมของพื้นที่สำหรับพืชแต่ละชนิดร่วมกับพื้นที่ปลูกปัจจุบัน 3) พืชเศรษฐกิจอนาคตไกล พิจารณาจากพืชทางเลือกที่แต่ละจังหวัดมีศักยภาพในการปลูก ปัจจุบันยังมีพื้นที่ปลูกน้อย แต่ตลาดมีความต้องการสูง ราคาดี ทั้งนี้รวมถึงพืช GI ของแต่ละจังหวัดด้วย และ 4) แนวทางการส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจ กำหนดกิจกรรมหรือมาตรการส่งเสริมตามระดับความเหมาะสมของที่ดินโดยมีความสอดคล้องกับนโยบายที่สำคัญของกระทรวงเกษตรฯ เช่น โครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ ทั้งนี้ ได้เร่งรัดให้กรมพัฒนาที่ดินจัดทำเอกสารฐานข้อมูลตามแผนที่เกษตรเชิงรุก (Agri - Map) เพื่อดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้เกิดการรับรู้แก่เกษตรกรในระดับพื้นที่ต่อไป โดยแนวทางส่งเสริมการเกษตรที่เหมาะสมตามฐานข้อมูลแผนที่เกษตรเชิงรุก จะดำเนินการเป็นรายจังหวัด ซึ่งมีตัวอย่างนำร่องเป็นข้อมูลจังหวัดขอนแก่น (QR Code).
