วันอังคารที่ 26 กรกฎาคม 2565 เวลา 09.30 น.
นายพีรพันธ์ คอทอง ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมติดตามการดำเนินงาน ในพื้นที่ จ.สกลนคร พร้อมด้วย เกษตรและสหกรณ์จังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ดังนี้
- ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในพระราชานุเคราะห์ฯ ณ โรงเรียนพรรณาวุฒาจารย์ อ.พรรณานิคม โดยได้มีหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในพื้นที่ร่วมเปิดให้บริการคลินิกต่าง ๆ
- จากนั้น เดินทางไปยังพื้นที่ บ้านดอนเชียงบาน ต.เชียงเครือ อ.เมืองสกลนคร เพื่อตรวจเยี่ยม ศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ Young Smart Farmer โดยมีนายสิทธิศักดิ์ พุ้ยมอม ประธานศูนย์ ให้การต้อนรับและร่วมนำเสนอข้อมูลความก้าวหน้าการดำเนินงานของศูนย์ โดยกิจกรรมหลักภายในศูนย์ฯ เป็นการทำการเกษตรแบบผสมผสาน ปลูกไม้ยืนต้น กล้วยน้ำว้า พืชผักสวนครัว และการเลี้ยงปลาแบบ Biofloc ศูนย์ฯ มีหลักการทำงานในการเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงการทำงานเครือข่าย YSF ในพื้นที่ เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้แก่เกษตรกรทั่วไป เชื่อมโยงการผลิต และการตลาดของเครือข่าย YSF มีความโดดเด่นด้านการบริหารจัดการเรื่องน้ำ : จัดเก็บน้ำโดยใช้หลักการธนาคารน้ำใต้ดิน สูบน้ำโดยใช้ระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ให้น้ำพืชผักโดยใช้ระบบให้น้ำพืชด้วยประตูวาล์วอัตโนมัติผ่านโปรแกรมแอปพลิเคชั่นเลี้ยงปลานิลด้วยระบบเทคโนโลยีตะกอนชีวภาพ (Biofloc Technology) ทั้งนี้ ได้มีการร่วมกับชุมชนจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน ในการดำเนินกิจกรรมการผลิต พืช สัตว์ ประมง แปรรูปผลิตภัณฑ์ฯ และดำเนินกิจกรรมร้านค้าวิสาหกิจชุมชนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของสมาชิกและเครือข่าย เช่น การเลี้ยงและแปรรูปปลาเป็น Burger ปลา แหนมเนืองปลา จำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์
- ในเวลาต่อมา เดินทางไปยังพื้นที่ ต.โพธิไพศาล อ.กุสุมาลย์ เพื่อตรวจเยี่ยมเกษตรกรกลุ่มนาแปลงใหญ่ข้าวอินทรีย์บ้านโพนแพง ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2561 และได้รับขึ้นทะเบียนเป็นกลุ่มแปลงใหญ่ข้าวในปี 2562 กิจกรรมที่เป็นจุดเด่นของกลุ่ม ได้แก่ แปลงทดลอง กิจกรรมเปรียบเทียบผลผลิตข้าวเหนียวไวต่อช่วงแสง และข้าวเหนียวไม่ไวต่อช่วงแสง, แปลงสาธิต โครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่, การรวมกลุ่มเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อจำหน่ายแก่ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสกลนคร และจำหน่ายแก่เกษตรกรในชุมชน, การผลิตข้าวสำหรับตลาดเฉพาะ (ข้าวไรซ์เบอร์รี่), การวิจัย Application ด้านการเกษตร, และการผลิตข้าว GAP โดยความสำเร็จของกลุ่มคือการยกระดับเป็นผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อจำหน่ายแก่ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวภายในชุมชน และต่อยอดเป็นศูนย์ข้าวชุมชนในอนาคต ผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม ประกอบด้วย เมล็ดพันธุ์ข้าวเจ้า ขาวดอกมะลิ 105 ข้าวเหนียว กข 22 และพันธุ์อื่น ๆ
โดยการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมติดตามในครั้งนี้ สอดคล้องเชื่อมโยงตามนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในประเด็น : การพัฒนาเกษตรกรเข้าสู่ Smart Farmer และ การลดต้นทุนการผลิต