วันพุธที่ 27 กรกฎาคม 2565 เวลา 09.30 น.
นายอรุณชัย พุทธเจริญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการตรวจราชการและการขับเคลื่อนงานตามแผนการตรวจราชการและการขับเคลื่อนแบบบูรณาการในระดับพื้นที่ของผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ของจังหวัดชุมพร ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โปรแกรม Zoom Meeting
ข้อค้นพบ และปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานในระดับพื้นที่ ดังนี้
1. ด้านพืช ปาล์มน้ำมัน เนื่องจากขาดแคลนกล้าพันธุ์ปาล์ม ในบางจังหวัดจึงพบการจำหน่ายกล้าพันธุ์ทางสื่อออนไลน์และไม่ได้คุณภาพ โรคพืช พบการระบาดของด้วงแรด หนอนปลอกเล็ก อยู่ในวงจำกัด เกษตรกรได้รับผลกระทบ 263 ราย/ครัวเรือน พื้นที่ 469 ไร่ ทุเรียน ด้านมาตรฐานในการรับรองสินค้าเกษตร มีการอบรมเกษตรกรเข้าสู่ระบบ GAP 295 ราย การตรวจรับรอง GMP Plus ขณะนี้ไม่พบปัญหาการปนเปื้อนเชื้อโควิด – 19 และการตัดทุเรียนอ่อน ยางพารา ปัจจุบันไม่พบการระบาดของโรคใบร่วงชนิดใหม่ โดย กยท.จ.ชุมพร ได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์ เกี่ยวกับโรคใบร่วงชนิดใหม่ให้แก่เกษตรกรจำนวน 191 กลุ่ม และปัญหาด้านสินค้าพืช ยังคงพบปัญหาปุ๋ยเคมีมีราคาสูง
2. ด้านประมง ปลากะพงขาว พบปัญหาแหล่งน้ำมีการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียบางพื้นที่ กุ้งขาวแวนนาไม พบการเกิดโรค EHP 1 ครั้ง และพบว่าพันธุ์กุ้งขาว สิชล 1 ยังเป็นที่รู้จักไม่แพร่หลายมากนักของผู้เลี้ยงกุ้ง ด้านคุณภาพและมาตรฐานในการรับรองสินค้าประมง ขณะนี้มีการเตรียมความพร้อมการขอรับรอง มกษ. 7436 โดยได้จัดอบรมเกษตรกรแล้ว 60 ราย พบปัญหาเกษตรกรไม่คุ้นเคยในการใช้ระบบงาน APD และยังมีการสวมสิทธิ์เกี่ยวกับใบกำกับการจำหน่าย ด้านต้นทุนการผลิตสัตว์น้ำ พบว่าต้นทุนการผลิตที่สูงมากขึ้นได้แก่ด้านอาหารและพลังงาน
3. ด้านปศุสัตว์ โคเนื้อ จากการรายงานไม่พบการระบาดของโรคลัมปีสกิน ภายใน 60 วัน ปัญหาที่พบคือ วัคซีนป้องกันโรคลัมปีสกิน ไม่เพียงพอต่อจำนวนโคเนื้อในจ.ชุมพร โดยเป้าหมายการบริการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรค 46,128 ตัว ผล 33,580 ตัว คิดเป็นร้อยละ 72.80 โรคปากและเท้าเปื่อยยังพบบางพื้นที่ และมีการฉีดวัคซีนเพื่อควบคุมโรค แผน 48,700 ตัว ผล 37,400 ตัว คิดเป็นร้อยละ 76.79 สุกร ยังคงพบโรค AFS จำนวน 5 ราย (เม.ย. - ก.ค. 65)
4. ปรับปรุงแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ระดับจังหวัด อยู่ในขั้นตอนการทำประชาพิจารณ์ โดยในวันที่ 2 สิงหาคม 2565 มีแผนการจัดเวทีประชาพิจารณ์แผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์จังหวัดชุมพร ระยะ 5 ปี (พ.ศ.2566-2570)
ทั้งนี้ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้ข้อสั่งการและข้อเสนอแนะในภาพรวมของการตรวจราชการแก่ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
1. ด้านพืช มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์/จัดทำเอกสารเผยแพร่และให้คำแนะนำในการเลือกซื้อพันธุ์ปาล์มน้ำมันที่มีคุณภาพ จากแปลงเพาะที่มีมาตรฐาน สร้างการรับรู้ให้เกษตรกรตระหนักถึงผลดีในการเลือกซื้อพันธุ์ปาล์ม ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับการซื้อขายพันธุ์ปาล์มที่ไม่มีคุณภาพ ให้มีการลงพื้นที่สำรวจ ติดตาม และให้คำแนะนำทางวิชาการในการป้องกันโรคและแมลงศัตรูพืชอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะโรคใบร่วงชนิดใหม่ยางพารา สนับสนุนการใช้สารชีวภัณฑ์และศัตรูธรรมชาติในการควบคุมศัตรูพืช เพื่อลดการใช้สารเคมี เน้นย้ำการรักษามาตรฐานของมาตรการ GMP Plus ในสินค้าทุเรียนอย่างต่อเนื่อง และส่งเสริมขยายผลให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยอินทรีย์ การใช้วัสดุในพื้นที่ในการผลิตปุ๋ยใช้เอง เพื่อลดต้นทุนการผลิต
2. ด้านประมง ให้ตรวจวิเคราะห์ทางวิชาการในแหล่งน้ำ สุ่มตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำอย่างสม่ำเสมอ เฝ้าระวังและป้องกันการเกิดโรคระบาดสัตว์น้ำ ให้คำแนะนำเกษตรกรในการจัดการควบคุมไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เน้นการประชาสัมพันธ์เรื่องกุ้งขาวสิชล 1 ให้แพร่หลายมากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่เกษตรกรในการใช้พันธุ์กุ้งที่ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์ให้มีคุณภาพ ผลิตได้เองเพื่อใช้ภายในประเทศ ให้มีการสร้างความรับรู้แก่เกษตรกรในการปรับเปลี่ยนการใช้มาตรฐานใหม่คือ มกษ. 7436-2563 เพื่อให้สินค้าได้รับการยอมรับจากตลาด และมีมาตรฐานเดียวกัน การเฝ้าระวังการสวมสิทธิ์ APD เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายกับระบบตรวจสอบย้อนกลับ ให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ให้แนะนำการจัดตั้งกลุ่มเพื่อเพิ่มอำนาจในการต่อรองราคาอาหาร และประชาสัมพันธ์โครงการลดต้นทุนการผลิตกุ้งทะเลฯ โดยเน้นการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ภายในฟาร์มเป็นพลังงานทดแทน
3. ด้านปศุสัตว์ เน้นให้หน่วยงานเร่งดำเนินการฉีดวัคซีนภายในรอบของการควบคุมโรค รอบที่ 2 ด้านโรค AFS ในสุกร เนื่องจากยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ให้เน้นการเฝ้าระวังโรคเชิงรุกและเชิงรับโดยตรวจเฝ้าระวังทางห้องปฏิบัติการ การผลิตพันธุ์สัตว์ มอบหมายให้หน่วยงานขยายฐานการผลิตสัตว์โดยใช้ “เครือข่ายสัตว์พันธุ์ดี” ของกรมปศุสัตว์ ให้ได้เพียงพอ การลดต้นทุนอาหารสัตว์ เน้นให้ส่งเสริมการใช้วัตถุดิบที่หาได้ในพื้นที่ทำอาหารเพื่อลดต้นทุน และได้เน้นย้ำให้เข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์ เพื่อควบคุมไม่ให้สัตว์นำโรคระบาดจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง
โดยการประชุมครั้งนี้ เป็นการตรวจราชการและการขับเคลื่อนแบบบูรณาการในระดับพื้นที่ ของผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565