ทุเรียนอุตรดิตถ์ หากจะกล่าวถึงทุเรียนอุตรดิตถ์ว่ามีดีและแตกต่างจากทุเรียนของจังหวัดอื่นอย่างไรนั้น ต้องขอพูดถึงแหล่งเพาะปลูกทุเรียนของจังหวัดอุตรดิตถ์ก่อนว่า กว่า 95 % ของพื้นที่เพาะปลูกเป็นภูเขาสูงและที่ลาดชัน ซึ่งอยู่ทางด้านเหนือและทางด้านตะวันออกของจังหวัดอุตรดิตถ์ สภาพภูมิประเทศเป็นป่าสลับซับซ้อน ดินมีลักษณะเป็นดินร่วนปนทราย (สีส้มอิฐ) หรือที่เรียกว่าดินแดงผาผุ ซึ่งเมื่อถึงฤดูฝนจะมีน้ำไหลบ่าลงจากยอดเขาสู่พื้นที่ราบที่มีความลาดชัน มากกว่า ๓๕ % นำพาเอาแร่ธาตุอาหารมาเติมให้กับพื้นที่การเกษตร และมีสภาพอากาศเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของทุเรียน มีบรรยากาศเย็นในยามพลบค่ำ มืดเร็ว เพราะมีภูเขาสูง (หรือที่เรียกว่าดอย) เป็นฉากกั้นแสงอาทิตย์ จากสภาพภูมิประเทศ และภูมิอากาศเช่นนี้ ทำให้ทุเรียนอุตรดิตถ์มีรสชาติและกลิ่นที่เป็นลักษณะเฉพาะ เป็นอัตลักษณ์ คือมี รสชาติหวานมันกำลังดี กลิ่นไม่แรง ประกอบกับไม่มีฝนตกมากในช่วงปลายเดือนเมษายน ถึง พฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงระยะที่ทุเรียนเริ่มแก่ จึงส่งผลให้เนื้อทุเรียนของจังหวัดอุตรดิตถ์ มีความพิเศษกว่าทุเรียนจากแหล่งอื่น คือมีเนื้อแห้ง เนื้อทุเรียนสีเหลืองเข้ม ซึ่งความพิเศษเหล่านี้ เมื่อรวมกันเกิดเป็นความอร่อยที่ลงตัว ?ทุเรียนหลงลับแล ,, ลักษณะเฉพาะ คือ ผลกลมหรือกลมรี มีกลิ่นอ่อน เนื้อมีสีเหลืองเข้ม เนื้อเหนียวละเอียด ไม่เละ รสชาติหวานมัน หอมอ่อนๆ ทุเรียนพันธุ์หลินลับแล ,, ลักษณะเฉพาะ คือ ผลทรงกระบอก เนื้อจะมีสีเหลืองอ่อน เนื้อแห้งไม่เละ รสหวานมันครีมมี่ กลิ่นหอมไม่แรง และที่สำคัญเมล็ดลีบ ?ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ,, ขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในทุเรียนที่มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์ ด้วยสภาพดินที่อุดมสมบูรณ์ ภูมิอากาศที่เหมาะสม และอัตลักษณ์ของทุเรียนดอย ทำให้มีเนื้อแห้ง ละเอียด กลิ่นไม่ฉุน รสชาตินุ่มละมุน หวานกลมกล่อม ?ทำให้ทุเรียนของจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นที่ยอมรับและเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค ที่ต้องการได้ลิ้มลองสักครั้งในชีวิต ?นอกจากนี้ ทุเรียนหลงลับแล และทุเรียนหลินลับแล ยังได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ GI จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา ว่าเป็นทุเรียนที่มีความเป็นอัตลักษณ์ และมีเอกลักษณ์เฉพาะของจังหวัดอุตรดิตถ์ ที่ต้องปลูกใน 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอลับแล อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ และอำเภอท่าปลา ในชื่อ ?“ทุเรียนหลงลับแลอุตรดิตถ์” ทะเบียนเลขที่ สช ๖๑๑๐๐๑๐๔ ?“ทุเรียนหลินลับแลอุตรดิตถ์” ทะเบียนเลขที่ สช ๖๑๑๐๐๑๐๕